Treasure Planet
ผจญภัยล่าขุมทรัพย์ดาวมฤตยู
Official website
more info. from IMDB
แนว : แอนิเมชั่น / Sci-Fi / ผจญภัย / ครอบครัว
ความยาว : 95 นาที
กำหนดฉาย : 5 ธันวาคม 2545

จิม ฮอว์คกินส์ (ให้เสียงพากย์โดย โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) เป็นเด็กหนุ่มวัย 15 ปีที่ขาดพ่อ เขาโตมาบนดาวชื่อ มอนเทรสเซอร์ และใฝ่ฝันที่จะค้นพบตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ จิมเป็นหนุ่มน้อยขี้เหงา ที่ชอบหนีงานประจำ ในโรงแรมเบนโบว์อินน์ของแม่ - ซาร่าห์ (ให้เสียงพากย์โดย ลอรี่ เมตแคล์ฟ) ไปแหวกว่ายกลางอากาศ ด้วยกระดานโต้คลื่นแสงอาทิตย์ ที่เขาทำขึ้นเอง และแล้ววันหนึ่ง ชีวิตของเขาก็พลิกผันอย่างเหลือเชื่อ เมื่อมียานอวกาศพุ่งตกลงพื้นใกล้โรงแรม เอเลี่ยนหน้าตาละม้ายเต่าชื่อ บิลลี่ โบนส์ (ให้เสียงพากย์โดย แพทริค แม็กกูแฮน) หนีออกมาจากซากยานนั้น และพูดจาเพ้อคลั่ง ถึงโจรสลัดไซบอร์กสุดโหด ที่ไล่ตามเขามา ทันทีที่โบนส์สิ้นใจ ก็ปรากฏฝูงโจรสลัด ตรงดิ่งเข้ารื้อค้นโรงแรมจนกระจุยกระจาย เพื่อค้นหาหีบของโบนส์ โรงแรมเบนโบว์อินน์ จึงย่อยยับในชั่วพริบตา

ด้วยความช่วยเหลือของ ด็อกเตอร์ เดลเบิร์ต ด็อปเพลอร์ (ให้เสียงพากย์โดย เดวิด ไฮด์ เพียร์ซ) นักฟิสิกส์ดวงดาว ผู้เป็นเพื่อนของครอบครัว จิมกับแม่หนีไปยังบ้านของเขาได้อย่างฉิวเฉียด และที่นั่น ทั้งสองก็พบหีบบรรจุลูกโลหะสีทอง ที่สลักเครื่องหมายประหลาดเอาไว้ จิมหยิบมันขึ้นส่องเล่น และทันใดนั้นเอง มันก็ฉายภาพ 3 มิติ ของกลุ่มดาวขึ้นเต็มห้อง จิมผู้หลงใหลนิทานโจรสลัดมาตั้งแต่ยังเด็ก นึกรู้ทันทีว่า ดาวเคราะห์สีเขียวที่มีวงแหวนสองวง ส่องสว่างล้อมรอบอยู่นั้น จะต้องเป็นดาวมหาสมบัติ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า เป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์ของกัปตันฟลินด์ จอมโจรแห่งจักรวาล

จิมตัดสินใจทันทีว่า เขาจะต้องออกผจญภัย ตามหาสมบัตินี้ เพื่อนำมันกลับมาสร้างโรงแรมใหม่ให้แม่ ด็อปเพลอร์ตอบตกลงที่จะมอบเงินออมของเขา ให้เป็นทุนสำหรับการเดินทาง และแผนของทั้งสอง ก็กลายร่างเป็นจริงขึ้นอย่างรวดเร็ว จิมกับด็อปเพลอร์มุ่งหน้าไปยังเครสเซนเทีย ท่าจอดยานรูปร่างคล้ายดวงจันทร์อันพลุกพล่าน และได้เห็นเรือแกลเลียนอันสวยสดชื่อ อาร์แอลเอสเลกาซี่ ทั้งยังได้พบเจ้าหน้าที่เอเลี่ยนสาวสวย หน้าเหมือนแมวชื่อ กัปตันอาเมเลีย (ให้เสียงพากย์โดย เอมม่า ทอมป์สัน) และต้นหนของเธอคือ มิสเตอร์แอร์โรว์ (ให้เสียงพากย์โดย โรสโค ลี บราวน์) พร้อมด้วยลูกทีมเอเลี่ยนหลากหลายสไตล์ ที่ด็อปเพลอร์จ้างมา

จิมได้รับมอบหมายจากกัปตัน ให้ทำงานในห้องครัวของเรือ เขาจึงมีโอกาสได้รู้จักกับ จอห์น ซิลเวอร์ (ให้เสียงพากย์โดย ไบรอัน เมอร์เรย์) พ่อครัวไซบอร์กท่าทางน่าคบ ที่สาธิตให้จิมได้เห็นวิธีใช้แขนกลไก เป็นทั้งเครื่องตีไข่, คบไฟ และทัพพี นอกจากนั้นเขายังได้เจอ มอร์ฟ (ให้เสียงพากย์โดย เดนี เดวิส) สัตว์เลี้ยงผู้น่ารักของซิลเวอรี่ สามารถแปลงร่างตัวเองเป็นใคร หรือวัตถุไหนๆ ก็ได้ จิมสงสัยว่า ซิลเวอร์อาจเป็นไซบอร์กที่โบนส์พูดถึงก่อนตาย เขาจึงพยายามรุกไล่ หลอกล่อให้ซิลเวอร์ เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาให้ได้ แต่ซิลเวอร์จอมวายร้าย ก็สามารถใช้เล่ห์เหลี่ยม เอาชนะเด็กหนุ่มได้ทุกครั้งไป

การเดินทางในห้วงเอธีเรียม เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เหล่าลูกเรือได้เห็นทั้งฝูงออร์กัสกาแล็กตีกีอันน่าทึ่ง (พวกมันเป็นปลาวาฬอวกาศบินได้ตัวยักษ์) และยังต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ เมื่อดาวซูเปอร์โนว่าตกเข้าสู่หลุมดำอันแสนอันตราย ระหว่างนั้น ซิลเวอร์กับหนุ่มน้อยจิมก็เริ่มสนิทสนมกัน ซิลเวอร์พบว่าจิมเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ จึงพยายามทำตัวเป็นพ่อให้ โดยมีจุดประสงค์ที่แท้จริง ก็เพื่อจะคอยควบคุมเด็กหนุ่มไม่ได้คลาดสายตา แต่ถึงอย่างนั้น โจรสลัดใจร้ายอย่างเขา ก็ยังเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นกับจิมอย่างช้าๆ เขาคอยให้กำลังใจ และคอยบอกว่า จิมนั้นมี "คุณสมบัติแห่งความยิ่งใหญ่" อยู่ในตัวเอง ทั้งยังเสริมด้วยว่า "เมื่อเวลามาถึง เธอจะได้ทดสอบความแข็งแกร่งของใบเรือของเธอ และแสดงให้เห็นว่า เธอมีอะไรในตัวบ้าง ...อืม ฉันหวังว่าฉันจะมีโอกาส ได้เห็นความรุ่งโรจน์ของเธอในวันนั้น!" ด้วยเหตุนี้ เมื่อจิมแอบได้ยินซิลเวอร์พูดกับลูกน้อง ถึงแผนก่อกบฎ และปฏิเสธว่าไม่เคยรู้สึกพิเศษใดๆ กับเขาเลย เขาจึงรู้สึกว่าถูกทรยศหักหลังอย่างรุนแรง

จิม, กัปตันอาเมเลีย และด็อปเพลอร์ วางแผนจะหนีลงเรือบดของยาน และพุ่งลงสู่ดาวมหาสมบัติ ระหว่างนั้นจิมได้เจอ บีอีเอ็น (ให้เสียงพากย์โดย มาร์ติน ชอร์ต) ซึ่งย่อมาจาก "Bio-Electronic Navigator" หุ่นยนต์ขี้โรคจิตไม่สมประกอบ (เพราะสูญเสียหน่วยความจำหลัก) ที่ถูกทิ้งไว้ตามลำพัง เหล่าโจรสลัดไล่ตามมา โดยซิลเวอร์เสนอว่า หากจิมยอมมอบแผนที่ให้ เขาก็จะแบ่งสมบัติตอบแทนให้ส่วนหนึ่ง แต่จิมปฏิเสธข้อเสนอนี้ ซิลเวอร์จึงให้โอกาสเปลี่ยนใจถึงแค่รุ่งเช้า

บีอีเอ็นนำทางจิมไปสู่ระบบเน็ตเวิร์คเครื่องยนต์ใต้ดิน ที่เชื่อมต่อกับภายในดาวมหาสมบัติโดยบังเอิญ แท้จริงแล้ว ดาวดวงนี้เป็นเครื่องจักรขนาดยักษ์ ที่เผ่าพันธุ์เอเลี่ยนในอดีตสร้างไว้ เมื่อหลายล้านปีก่อน เพื่อใช้เป็นพาหนะสำรวจจักรวาล มันมีทางเชื่อมให้เดินทางไปได้ทั่วจักรวาล และกัปตันฟลินต์ก็ใช้ทางเหล่านั้น ในการขโมยสมบัติ จนทำให้เขากลายเป็นจอมโจร

ซิลเวอร์กับแก๊งโจรสลัด กลายเป็นฝ่ายเข้าควบคุมสถานการณ์ และในไม่ช้าก็พบว่า สมบัติซุกซ่อนอยู่ใจกลางของดวงดาวดังกล่าว นอกจากนั้น พวกมันยังพบด่านกล ที่กัปตันฟลินต์ทำไว้ ให้ดาวสามารถระเบิดได้ หากมีคนอื่นลอบเข้ามาเปิดทางเชื่อมต่อ เมื่อถึงวินาทีล่อแหลม และชีวิตของจิมตกอยู่ในอันตราย ซิลเวอร์ก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งว่า เขาจะเลือกช่วยชีวิตจิม หรือรักษาไว้ซึ่งสมบัติ ที่เฝ้าตามหามาตลอดชีวิต ในตอนจบของเรื่องนี้ ทั้งจิมและซิลเวอร์ต่างถูกทดสอบ ด้วยวิถีทางที่เหนือจินตนาการ และอนาคตของพวกเขา ก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย -- เป็นตายเท่ากัน!


จาก Treasure Island หนึ่งในเรื่องราวผจญภัย ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก จากปลายปากกาของ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน สัน ที่ว่าด้วยโจรสลัด, การลอบปล้น, การผจญภัยกลางทะเล และการเติบโตของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง กำลังจะก้าวเข้าสู่มิติใหม่ แห่งความบันเทิง และความระทึกใจใน Treasure Planet ผลงานแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ล่าสุดจาก วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส ซึ่งนำพาผู้ชมไปพบกับการผจญภัยอันกล้าหาญ และเปี่ยมจินตนาการ ข้ามผ่านห้วงจักรวาลแฟนตาซี ที่ผสมผสานระหว่างแอนิเมชั่นวาดมือ, ฉากเสมือนจริง 3 มิติน่าทึ่ง, การแสดงชั้นยอด และการเล่าเรื่องอันแสนสนุกสนาน

เป็นเวลาถึงเกือบ 120 ปีนับตั้งแต่ Treasure Island ปรากฏตัวในรูปหนังสือเป็นครั้งแรก และจนปัจจุบัน มันก็ยังคงเป็นนิยายเรื่องโปรด ในหมู่ผู้อ่านทุกวัย หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดหนังเวอร์ชั่นต่างๆ มากมาย โดยหนังฮอลลีวู้ดเรื่องแรกๆ ที่สร้างจากนิยายเรื่องนี้มีขึ้นตั้งแต่ในยุคหนังเงียบ ปี 1908, 1912 และ 1918 ในปี 1920 มอริซ ทัวร์เนอร์ กำกับหนังเงียบ ที่นำแสดงโดยดาราระดับตำนานอย่าง ลอน เชนี่ย์ ถัดมาปี 1934 เอ็มจีเอ็มก็นำมาสร้าง ภายใต้การกำกับของ วิคเตอร์ เฟลมิ่ง (Gone With the Wind, The Wizard of Oz) โดยมี วอลเลซ เบียรี่ รับบท จอห์น ซิลเวอร์ และ แจ็คกี้ คูเปอร์ เป็น จิม ฮอว์คกินส์ ส่วน วอลท์ดิสนีย์ เองก็เคยอำนวยการสร้างหนังคนแสดงเรื่อง Treasure Island มาแล้วเช่นกันในปี 1950 กำกับโดย ไบรอน แฮสกิน และนำแสดงโดย บ็อบบี้ ดริสคอลล์ กับ โรเบิร์ต นิวตัน ยังมีนักแสดงระดับแนวหน้าอีกหลายคน ที่เคยสวมบทวายร้าย จอห์น ซิลเวอร์ ในเวอร์ชั่นหนัง อาทิ ออร์สัน เวลส์ (ปี 1972), ชาร์ลตัน เฮสตัน (1989) และ แจ็ค พาแลนซ์ (2001) นอกจากนั้น บอริส คาร์ลอฟฟ์ ก็เคยสวมบท บิลลี่ โบนส์ ในฉบับหนังโทรทัศน์ปี 1960 และ ทิม เคอร์รี่ เล่นเป็นซิลเวอร์ ประกบบรรดาตัวละครหุ่นชัก ในหนังปี 1996 ของดิสนีย์เรื่อง Muppet Treasure Island ส่วนหนังปี 1954 เรื่อง Return to Treasure Island นั้นเป็นการสร้างจุดหักเหใหม่ให้กับหนัง เพราะมีนักแสดงหญิง ดอว์น อดัมส์ มารับบทเป็น เจเมสิน่า ฮอว์คกินส์

ตัวละครผู้เป็นศูนย์กลางในเรื่องราวนี้ก็คือ จิม ฮอว์คกินส์ เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ที่เข้าร่วมกับการเดินทางข้ามกาแล็กซี่ ในฐานะเด็กห้องเครื่อง ประจำเรือใบท่องอวกาศลำใหญ่ยักษ์ จิมกลายเป็นเพื่อนกับ จอห์น ซิลเวอร์ พ่อครัวไซบอร์ก (ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์) ประจำยาน และคอยรับฟังคำแนะนำอย่างใกล้ชิด ระหว่างที่ก็ต้องผจญกับซูเปอร์โนวา (ภาวะสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมาก จนระเบิดและสว่างจ้า), หลุมดำ และพายุอวกาศอันหนักหน่วง แต่ทั้งหมดนั้น กลับไม่มีสิ่งใดอันตรายใหญ่หลวงไปกว่า การที่จิมพบว่า ซิลเวอร์เพื่อนรักของเขานั้น แท้จริงแล้ว เป็นสลัดอวกาศผู้วางแผนก่อกบฎ! เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการทรยศหักหลัง ที่สร้างความเจ็บปวด ลงลึกถึงก้นบึ้งหัวใจ จิมจึงแปรเปลี่ยน จากการเป็นเพียงเด็กชาย มาเป็นหนุ่มผู้ใช้ความแข็งแกร่งของตน ในการต่อสู้กับเหล่ากบฎ และค้นพบ 'สมบัติ' ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าที่เขาเคยจินตนาการไว้

ทีมงานสร้างสรรค์เบื้องหลัง Treasure Planet ก็คือ จอห์น มัสเกอร์ กับ รอน คลีเมนต์ส คู่หูผู้กำกับ/อำนวยการสร้าง และเขียนบทชื่อดัง ซึ่งฝากฝีมือไว้ในผลงานของดิสนีย์มาแล้ว 4 เรื่องได้แก่ The Great Mouse Detective (1986), The Little Mermaid (1989), Aladdin (1992) และ Hercules (1997) มัสเกอร์เรียนจบจากแคลอาร์ตส์ และเข้าร่วมงานกับดิสนีย์เมื่อปี 1977 ในตำแหน่งผู้ช่วยแอนิเมเตอร์ (The Small One, The Fox and the Hound) ตามด้วยตำแหน่งแอนิเมเตอร์ กับสตอรี่อาร์ติสต์ส จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้กำกับในที่สุด ส่วนคลีเมนต์สนั้นเริ่มทำหนังแอนิเมชั่นซูเปอร์-8 มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และเข้าร่วมงานกับดิสนีย์ในปี 1976 โดยเป็นใช้เวลาฝึกงานนาน 2 ปี ภายใต้การดูแลของแอนิเมชั่นระดับเก๋าอย่าง แฟรงค์ โธมัส จากนั้นเขาก็ควบทั้งตำแหน่งผู้ช่วยแอนิเมเตอร์ และผู้ช่วยสตอรี่อาร์ติสต์ส โดยมีผลงานอย่าง Winnie the Pooh and Tigger Too, The Rescuers, Pete's Dragon, The Fox and the Hound และ The Black Cauldron เขาร่วมทีมกับมัสเกอร์เป็นครั้งแรกในปี 1983 เพื่อเขียนบทและกำกับ The Great Mouse Detective

สำหรับงานดูแลโปรดักชั่นทั้งหมด ในฐานะผู้อำนวยการสร้างนั้น ตกเป็นของ รอย คอนลี ซึ่งร่วมงานกับแผนกภาพยนตร์แอนิเมชั่น ที่ดิสนีย์มานานถึง 10 ปี และเคยร่วมอำนวยการสร้างผลงานปี 1996 เรื่อง The Hunchback of Notre Dame ตามด้วยหน้าที่บริหารสตูดิโอแอนิเมชั่น ของดิสนีย์ที่ปารีสอีก 3 ปี (โดยดูแลงานสร้างของ Hercules กับ Tarzan) นอกจากนั้น คอนลียังเคยผ่านงานโปรดิวซ์ และจัดการละครเวทีเรื่องเยี่ยมๆ มาแล้วหลายเรื่อง สำหรับใน Treasure Planet เขามี ผอ.ร่วมอย่าง ปีเตอร์ เดล เวคโก และได้ นีล เอสคูรี มารับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานฝ่ายศิลป์ และ ทีนา ไพรซ์ เป็นผู้ช่วย

ทีมนักแสดงฝีมือดี ได้รับเลือกให้มาพากย์เสียงตัวละครในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (จาก Angels in the Outfield และซีรี่ส์ทางโทรทัศน์เรื่อง 3rd Rock From the Sun) รับหน้าที่สร้างอารมณ์ และความลึกให้แก่ตัวละคร จิม ฮอว์คกินส์ เด็กหนุ่มขี้เหงาวัย 15 ผู้พยายามค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่, ไบรอัน เมอร์เรย์ นักแสดงระดับเข้าชิง 3 รางวัลโทนี่ (The Crucible, The Little Foxes, Rosencrantz and Guildenstern are Dead) มาพากย์เสียง จอห์น ซิลเวอร์ วายร้ายท่าทางน่ารักที่ใช้เสน่ห์ของตน บดบังนิสัยจริงอันชั่วร้ายไว้, เอมม่า ทอมป์สัน นักแสดง/ผู้เขียนบทระดับออสการ์ ให้เสียง กัปตันอาเมเลีย เจ้าหน้าที่สาวผู้ชาญฉลาด ประจำยานอาร์แอลเอสเลกาซี่, เดวิด ไฮด์ เพียร์ซ (ผู้รับบทด็อกเตอร์ ไนลส์ เครน ในซีรี่ส์ยอดฮิตเรื่อง Frasier) ช่วยเติมเสียงหัวเราะ, อารมณ์ดราม่า และความโรแมนติกให้กับตัวละคร ด็อกเตอร์ด็อปเพลอร์ นักฟิสิกส์ดวงดาว ที่ได้โอกาสทำฝันให้เป็นจริง ด้วยการให้เงินสนับสนุนการเดินทางค้นหาสมบัติ, นักแสดงตลก มาร์ติน ชอร์ต ให้เสียงเปี่ยมอารมณ์ขันแก่ บี.อี.เอ็น (Bio-Electronic-Navigator) หุ่นยนต์ผู้มีระบบความจำไม่ปกติ และมีกฎสองข้อประจำตัว (คือห้ามแตะ และห้ามคุย)

ทีมผู้พากย์ยังประกอบด้วย นักแสดงมือเก๋า แพทริค แม็กกูแฮน ให้เสียง บิลลี่ โบนส์ ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย จากลูกเรือสลัดของกัปตันฟลินต์ และเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ที่ซ่อนของสมบัติ, โรสโค ลี บราวน์ นักแสดงรางวัลเอมมี่ มาให้เสียงแก่ มิสเตอร์แอร์โรว์ ต้นหนผู้ผึ่งผายมาดดีของกัปตันอาเมเลีย, ลอรี่ เมตแคล์ฟ (ผู้พากย์เสียงแม่ของแอนดี้ใน Toy Story ทั้ง 2 ภาค) รับหน้าที่เป็นแม่ของจิม ซึ่งต้องทำทั้งหน้าที่แม่ และผู้ดูแลกิจการโรงแรมเบนโบว์, ไมเคิล วินค็อตต์ (Along Came a Spider, Alien Resurrection) เป็น สครูป โจรสลัดท่าทางคล้ายแมงมุม ที่ทั้งเลวร้ายและชอบหักหลัง, เดนี เดวิส ผู้ออกแบบเสียง และลำดับเสียงเจ้าของออสการ์ (The Matrix) มาเป็น มอร์ฟ สัตว์เลี้ยงขี้เล่นของซิลเวอร์ ซึ่งสามารถแปลงร่างกลายเป็นใคร หรืออะไรก็ได้

แอนดี้ แกสคิลล์ ผู้กำกับศิลป์ที่เคยร่วมงานกับมัสเกอร์ และคลีเมนต์สมาแล้วใน Hercules ซึ่งได้แรงบันดาลใจด้านสไตล์จาก เจอราลด์ สคาร์ฟ มารับหน้าที่สร้างภาพให้กับโลกใน Treasure Planet ภายใต้แนวคิดของสองผู้กำกับ ที่จะแบ่งงานกำกับศิลป์ออกเป็นสัดส่วน "70-30" หมายถึง 70% ของแรงบันดาลใจในการสร้างฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉากนั้นได้จากอดีต ขณะที่อีก 30% เป็นยุคอนาคต ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อมองโดยผิวเผินครั้งแรก คนดูจะรู้สึกเหมือนเห็นงานออกแบบเรือ ยุคศตวรรษที่ 18 แต่เมื่อสังเกตอย่างใกล้ชิด จึงจะเห็นจรวด และองค์ประกอบแฟนตาซีอื่นๆ

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญของงานภาพโดยรวมใน Treasure Planet ก็คือ แบรนดี้ไวน์สคูล ซึ่งมีศิลปินโด่งดังมากมาย อาทิ เฮาเวิร์ด ไพล์, เอ็น ซี ไวเอ็ธ และ แม็กฟิลด์ แพร์ริช ไวเอ็ธเป็นผู้วาดภาพประกอบอันโด่งดัง ในหนังสือคลาสสิกของสตีเวนสันฉบับปี 1911 ที่พิมพ์โดยสคริบเนอร์ แกสคิลล์กับลูกทีมอาศัยสไตล์เหล่านี้ ในการพยายามจับความเป็นแฟนตาซี, ผจญภัย และความเป็นหนังสือนิทาน ออกมาจากภาพประกอบเหล่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมีการวาดแบ็คกราวด์ด้วยสีน้ำมัน อันเป็นเทคนิคที่ดิสนีย์ไม่เคยทำมานานแล้ว นับตั้งแต่ Bambi เมื่อ 60 ปีก่อน โดยในการนี้ ศิลปินวาดแบ็คกราวด์จะต้องใช้วิธีทำงานแบบใหม่หมด ภายใต้การดูแลของ แดน คูเปอร์ แบ็คกราวด์ซูเปอร์ไวเซอร์

สำหรับงานออกแบบของหนัง สตีเว่น โอลด์ส โปรดักชั่นดีไซเนอร์ เป็นผู้ออกแบบรูปร่างหน้าตาของ อาร์แอลเอสเลกาซี่ ยานอวกาศที่ได้แรงบันดาลใจ จากยุคศตวรรษที่ 18 และเหาะในอวกาศด้วยใบเรือพลังแสงอาทิตย์ นอกจากนั้นเขายังออกแบบองค์ประกอบ ด้านกลไกต่างๆ ตั้งแต่แขนของซิลเวอร์ ไปจนถึงเรือบด และกระดานโต้คลื่นสุริยะ แฟรงค์ นิสเซน สตอรี่บอร์ดอาร์ติสต์ของดิสนีย์ ก็มารับผิดชอบงานโปรดักชั่นดีไซน์อีกคนหนึ่ง และมีบทบาทสำคัญ ในการดูแลภาพรวมทั้งหมด ส่วนงานออกแบบตัวละครนั้น เป็นหน้าที่ของศิลปินผู้มากความสามารถอย่าง ริค มากี, บั๊ค ลูว์อิส, ปีเตอร์ เดอ เซวี, ปีเตอร์ คลาร์ค และอีกหลายๆ คน

ในแง่เทคโนโลยีแล้ว Treasure Planet เป็นงานที่ผสมผสานระหว่างแอนิเมชั่นวาดมือกับ CG โดยยกระดับขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง ตัวละครส่วนใหญ่ในหนัง เกิดจากการวาดมือ ยกเว้นตัว จอห์น ซิลเวอร์ (ซึ่งผสมระหว่างการวาดมือ และคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น) กับหุ่นยนต์ บีอีเอ็น ซึ่งวาดด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ขณะที่กว่า 75% ของหนังใช้เทคนิค "Deep Canvas" ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวาดอุปกรณ์ประกอบฉาก ไปจนถึง "ฉากเสมือนจริง" จึงนับเป็นความก้าวหน้าไปอีกระดับ ถัดจาก Tarzan (1999) ที่มีการใช้ "Deep Canvas" เพียงไม่ถึง 10 นาทีเท่านั้น โดย "Deep Canvas" หมายถึงการวาดรูปทรงเรขาคณิต 3 มิติในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำขึ้น เพื่อใช้สำหรับแต่ละฉากโดยเฉพาะ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือเปลี่ยนทิศทางการให้แสงได้ ขณะที่การสร้างฉากเสมือนจริงหรือ "Virtual Sets" จะเป็นการพัฒนากระบวนการ "Deep Canvas" ไปอีกระดับหนึ่งด้วยการสร้างฉาก 3 มิติจริง ที่สามารถปรับการให้แสง หรือนำกลับมาใช้ได้ใหม่หากต้องการ โดยจะวางกล้องในตำแหน่งใดก็ได้บนฉาก ทั้งยังสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วฉากด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลเข้ารับหน้าที่สำคัญในทุกส่วน (ทั้ง เลย์เอาต์, แบ็คกราวด์, วิชวลเอฟเฟ็คต์ส, ฯลฯ) แอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ของดิสนีย์ก่อนหน้านี้มีแผนก CG เป็นเพียงทีมเล็กๆ เพื่อรับหน้าที่เสริมบางองค์ประกอบ หรือบางฉากให้กับหนังแต่ละเรื่องเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เมื่อซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานง่ายขึ้น และฮาร์ดแวร์ก็มีศักยภาพสูงขึ้น เหล่าศิลปินในแต่ละแผนก จึงเริ่มหันมาใช้คอมพิวเตอร์ กันมากขึ้นตามไปด้วย ไคล์ โอเดอร์แม็ตต์ รับตำแหน่งเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ด้าน Computer Graphics Imagery (CGI) ให้กับหนังเรื่องนี้ และประสานงานกับบรรดาศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลในแต่ละแผนก เดฟ ทิดจ์เวลล์ (Mulan) เป็นผู้ดูแลลูกทีม 40 ชีวิตที่รับผิดชอบงานวิชวลเอฟเฟ็คต์ อันหลากหลายของหนัง (ทั้ง 2 และ 3 มิติ อาทิ เอฟเฟ็คต์ไฟ, ควัน, หลุมดำ, ระเบิด และพายุจักรวาล)

ไม่มีเรื่องราวผจญภัยใดจะสมบูรณ์แบบไปได้ หากขาดดนตรีประกอบยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยขับเน้นแอ็กชั่น และเพิ่มความเป็นดราม่า กับอารมณ์ขันไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งในการจะสร้างสิ่งนั้นแก่ Treasure Planet ทีมงานตัดสินใจเลือกพึ่งพิงความสามารถ ของคอมโพสเซอร์ เจมส์ นิวตัน เฮาเวิร์ด โดยนับเป็นดนตรีประกอบเรื่องที่ 3 แล้ว ที่เขาทำให้กับหนังแอนิเมชั่นของดิสนีย์ ถัดจาก Dinosaur และ Atlantis: The Lost Empire

นอกเหนือจากดนตรีประกอบแล้ว หนังยังใช้อีก 2 เพลงของ จอห์น เรซนิค นักร้อง/นักแต่งเพลง (หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง และนักร้องนำของวง Goo Goo Dolls) ซึ่งกลายมาเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว เป็นครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ เพลงแรกก็คือ "I'm Still Here (Jim's Theme)" ใช้ในฉากที่แสดงถึงพัฒนาการ ของมิตรภาพระหว่างจิมกับจอห์น ซิลเวอร์ โดยในร็อคบัลลาดเพลงนี้ เรซนิคนำความทรงจำวัยเยาว์ของเขาเอง เข้ามาบวกกับความเข้าใจในตัวละคร และอารมณ์ของเพลง ส่วนเพลงที่สองของเรซนิคคือ "Always Know Where You Are" จะปรากฏในช่วงขึ้นเครดิตทีมงานท้ายเรื่อง

ภาพยนตร์เรื่อง Treasure Planet ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปีครึ่ง โดยเปิดกล้องเมื่อปี 2000 และใช้ทีมงานศิลปิน, แอนิเมเตอร์ และช่างเทคนิค รวมถึง 350 ชีวิต