39 ต้นแบบใหม่ธุรกิจไทย
ชื่อหนังสือ 39 ต้นแบบใหม่ธุรกิจไทย
โดย   ชูศักดิ์ เดชเกรียงไกร, นิทัศน์ คณะวรรณ และธีรพล แช่ตั้ง
สำนักพิมพ์ เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด
ราคา 180 ฿
จำนวน 272 หน้า
จำหน่ายโดย บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ซ จำกัด
ISBN 974-8254-21-6

39 ต้นแบบใหม่ธุรกิจไทย


หนังสือเล่มนี้ได้จัดทำขึ้น จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา และการรวบรวมค้นคว้า ไม่ใช่มาจากตำราเล่มใดเล่มหนึ่ง และจัดทำสรุปกระบวนยุทธ์ ทางธุรกิจที่เรียกว่า ต้นแบบธุรกิจ ทั้ง 39 กระบวนท่า มาตีแผ่ให้ผู้บริหารและนักธุรกิจไทย เพื่อเป็นแนวทาง และสูตรวิธีลัด ในการสลัดคราบเก่า คิดต้นแบบธุรกิจใหม่ ที่สร้างความแตกต่าง และมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทางคณะผู้จัดทำ และทีมงานที่ปรึกษาชมรม ผู้เชี่ยวชาญการตลาด (MGA) หวังว่าคัมภีร์การสร้าง ต้นแบบธุรกิจใหม่เล่มนี้ จะเป็นคู่มือนำพาธุรกิจไทย และธุรกิจท่าน ให้ผ่าคลื่นมรสุมพิษภัยเศรษฐกิจตกต่ำ และผันผวนของโลก ที่กำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ อย่างมีทิศทางที่มั่นใจมั่งคงมากขึ้น

ธุรกิจไทยได้พบกับความบอบซ้ำมา ในช่วงวิกฤติการณ์เอเชียที่ผ่านมา ยอดกำลังผลิตที่ใช้ลด เหลือเพียงครึ่งเดียวของทั้งหมด เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าธุรกิจ ยังมีกำลังผลิตล้นเหลือ เพราะไม่สามารถเพิ่มการผลิต เพื่อขายผลิตภัณฑ์ ที่ยังไม่มีตลาดรองรับได้ คำถามคือธุรกิจไทยจะทำอย่างไร เพื่อสร้างความต้องการตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ผลิตภัณฑ์ตนเอง เพื่อหนีกลไกการตัดราคา หนีสภาวะการอืดตัว สต๊อกล้นเหลือ และเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ และคู่แข่งหน้าใหม่ ในเวทีสากลได้อย่างไร กลยุทธ์วิธีคิด วิธีการเดิมๆ ที่ยึดติดกับ ความสำเร็จในอดีต ไม่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง และพลวัตรของสภาพการแข่งขันใหม่ ในระบบโลกภิวัฒน์ บางธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นได้มีการปรับตัวดังนี้

- ยังคงใช้วิธี ที่สร้างภาพลักษณ์อย่างเดียว เป็นหัวหอก โดยให้คำมั่นสัญญากับลูกค้าเกินไป (Over Promise) ทำให้ลูกค้าคาดหวัง ที่มีเพิ่มมากขึ้นของลูกค้า และในความเป็นจริงลูกค้า กลับได้รับการตอบสนองที่น้อยลง ช้าลง และไม่ตรงประเด็น บริการที่ยอดแย่ ดีแต่พูด แต่ไม่ทำ (Lip Service)

- ธุรกิจใช้เทคโนโลยี เป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ หรือเพียงเครื่องประดับสำนักงาน เพื่อโอ้อวด ธุรกิจที่ทันสมัย แต่ไม่นำเทคโนโลยีมาพัฒนา ขีดความสามารถเชิงแข่งขัน ของบริษัทให้สูงขึ้น เปรียบเสมือนเด็ก ที่อยากได้เครื่องบิน ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถขับได้ หลายบริษัทมีคอมพิวเตอร์ แต่ใช้เป็นเครื่องพิมพ์ดีด หรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ ประดับผู้บริหารเท่านั้น ใช้พิมพ์ข้อมูลวิเคราะห์พื้นฐาน มาสูงเท่าหัว แต่ไม่มีคนอ่าน แปลความสรุป คัดย่อประเด็นมาให้ผู้ตัดสินใจ

- ธุรกิจอยากพัฒนาคุณภาพ แต่เข้าใจว่า ISO, QS, GMP คือ บทสรุปถาวรของ การสร้างความแตกต่าง และความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ทั้งๆ ที่หลายบริษัท ได้รับการรับรองทั้งระบบ แล้วกลับยึดติดกับขั้นตอนแบบราชการนิยม ทำงานล่าช้า และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ลดมาตรฐานที่ได้ คุณภาพที่สูงขึ้น กลับได้มาด้วย น้ำตาของผู้บริโภคลูกค้า ที่ได้รับการตอบสนองช้า ไม่ทันเหตุการณ์กล่าวคือ การได้ทำ QC (Quality Control) โดยเสียสละ QR (Quick Response) ไป และลูกค้าเองกลับไม่รู้สึก หรือรับรู้ถึงข้อดีของตัวมาตรฐาน หรือคุณภาพที่สูงขึ้นนั้นว่า จะมีผลดีกลับลูกค้า โดยตรงอย่างไร จริงๆแล้ว ISO, QS, GMP เป็นเพียงเครื่องมือทางบริหารเท่านั้น มิใช่เป็นจุดสุดยอดของการดำเนินธุรกิจ ในสภาวะการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน

- ธุรกิจไทยยังพอใจ กับการออกคำสั่ง จากหอคอยงาช้าง One man show เน้นระบบการควบคุม รายงานให้ปฏิบัติงาน ตามคำสั่งเบื้องบน ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด โดยผู้นำองค์กร การปฏิบัติงานตามสายงาน โครงสร้างองค์กรที่ตายตัวไม่ยืดหยุ่นไหลลื่น การสื่อสารไม่เป็นแบบ 360 องศา ทุกทิศทาง แต่จะควบคุมการสื่อสารแบบแนวดิ่ง รายงานตามขั้นบันไดของแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก ในขณะที่ข่าวสารรายงาน ข้ามแผนกหรือฝ่าย ต้องได้รับความเห็นชอบ จากผู้อำนวยการฝ่ายเสียก่อน ทำให้ล่าช้า ราชการนิยมปรับตัวไม่ทัน กลายเป็นไดโนเสาร์ ปรับตัวไม่ทันต่อ สภาวะการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็ว

-ธุรกิจไทยยังคงพอใจ ที่จะทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นจนจบตั้งแต่คิด, ออกแบบ, ผลิต, สต๊อก, นำส่ง, ขาย, ตลาด, บริการ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำตลอดขบวนการผลิต และขบวนการธุรกิจ เพราะธุรกิจไทยไม่ไว้ใจใคร จึงต้องทำเองหมดลงทุนทำเอง อย่างไม่หาพันธมิตรคู่ค้าหรือจ้างผลิต, จ้างทำตลาด, จ้างออกแบบ, จ้างบริการ เพราะกลัวความลับรั่วไหล จึงต้องใช้ทรัพยากรตนเองมหาศาล และทำในหน้าที่บางอย่าง เองหมด ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีความถนัด ธุรกิจไทยจึงไม่เคยเชื่อ เรื่องการหาพันธมิตร, คู่ค้า, การรวมพลังกลุ่มการค้าคนไทยทำน้อยมาก

นี่คือประสพการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในธุรกิจไทย ที่นับวันสิ่งที่ธุรกิจให้คำมั่นสัญญากับลูกค้า หรือได้ให้ความหวัง กับผู้บริโภค ด้วยภาพลักษณ์ที่ตนเองสร้างภาพขึ้น ทำให้ลูกค้า คาดหวังสูงขึ้นๆ แต่ธุรกิจไม่ตอบสนองได้อย่างแท้จริงของบริษัท (Performance) ช่องว่างนี้มีมากขึ้นไปทุกวัน จนทำให้บริษัทเริ่มมีปัญหา ลูกค้าเริ่มหดหาย, รายได้ลดลง, กำไรไม่เหลือ, ไม่กล้าลงทุนใหม่, ยิ่งกลัวยิ่งหดตัว, ยิ่งลดกำลังผลิต ลดคน ลดสายผลิตภัณฑ์ และปัญหาที่สำคัญของธุรกิจไทยคือ ยังยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ต้นแบบธุรกิจเดิมๆ ที่เริ่มผุพัง ลูกค้ากลุ่มเดิม คู่ค้าเดิม พันธมิตรเดิม กำหนดคู่แข่งหน้าเดิมๆ ไม่สนใจคู่แข่งหน้าใหม่ ที่เข้ามาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ กติกาการแข่งขันใหม่ ธุรกิจไทยจึงอยู่ใน สภาพอาการตกยุคฝันค้าง แต่ความฝันไม่เคยกลายมาเป็นความจริง ถ้าหากธุรกิจ ไม่สามารถลอกคราบ หรือปรับตัวได้ทัน หรือไม่สามารถฉกฉวยโอกาสใหม่ จากพลวัตรกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ อาการเช่นนี้ก็จะเกิดบ่อยครั้ง ครั้งละหลายชีวิต ไม่ว่าเป็นการปลดพนักงาน จนกระทั่งปิดกิจการที่ขาดทุน

ถึงเวลาแล้วที่นักธุรกิจไทย ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจ และวิธีปฏิบัติใหม่ เพื่อเชื่อมโยง พนักงานทุกคนในบริษัท, ลูกค้า, คู่ค้า, และชุมชนลูกค้า เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจใหม่ ที่เข้าไปถึงในใจของผู้บริโภคปัจจุบัน ได้อย่างแท้จริง สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในใจของลูกค้า โดยใช้ต้นทุนต่ำ จนเป็นผู้นำตลาด ในตลาดสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ชัดเจนได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องใช้สงครามราคา เพียงอย่างเดียว ในการทำตลาดเหมือนที่ผ่านมา ศิลปะการใช้ 39 กลยุทธ์ต้นแบบธุรกิจ เพื่อสร้างแรงบวกให้ธุรกิจของท่าน จึงต้องนำไปใช้ให้ถูกต้อง ตามสภาพความเป็นจริงของธุรกิจด้วย จึงจะได้ผลสมบูรณ์แบบ ตามเจตนารมย์ ของคณะทีมที่ปรึกษา ชมรมผู้เชี่ยวชาญการตลาด ที่กลั่นกรองตามประสบการณ์ ให้คำปรึกษากว่า 15 ปี มาเป็นสูตรลัดในการลอกคราบธุรกิจใหม่ไทย ให้ต่อสู้กับทุนต่างชาติ ได้อย่างรู้เขารู้เรา