โอกาสใหม่ ทางเลือกใหม่ : เราจะไปทางไหน
ชื่อหนังสือ โอกาสใหม่ ทางเลือกใหม่ : เราจะไปทางไหน
โดย   พงษ์ ผาวิจิตร
สำนักพิมพ์ เอ.อาร์. บิซิเนส เพรส จำกัด
ราคา 190 ฿
จำนวน 232 หน้า
จำหน่ายโดย เอ.อาร์. บิซิเนส เพรส จำกัด
ISBN 974-8254-29-1

โอกาสใหม่ ทางเลือกใหม่ : เราจะไปทางไหน


ความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง เป็นความฝันร่วมของทุกชาติทุกภาษา ซึ่งโดยรากเหง้าแล้ว มนุษย์ก็มีสัญชาตญาณ เหมือนกับสัตว์อื่นๆ ทั่วๆ ไปอย่างหนึ่งคือ การแสวงหาเสรีภาพ ในอดีตกาล เรามีเสรีภาพในการดำรงชีพ แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ การทำสงครามกันระหว่างเผ่า จากเหตุการณ์เหล่านี้ ที่ทำให้คนเราเริ่มมาจัดระเบียบสังคม และกลายมาเป็นรูปแบบของการทำงานตามถนัด จึงเกิดเป็นอาชีพขึ้นมา ยิ่งเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้คนเราจำเป็นต้องทำการผลิต ในเชิงอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อสะสมไว้ในการสู้กับภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยที่เราไม่รู้ตัว จึงทำให้การดำรงชีพด้วยการทำงานในครัวเรือน การทำไร่ทำนา กลายเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย คนที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้นที่จะต้องทำ ส่วนคนที่มีทางเลือก ก็มักจะเลือกที่จะเข้าไปทำงาน ในโรงงานอุตสาหกรรม ที่รวมปัจจัยการผลิตต่างๆ ไว้ในจุดเดียวกัน แล้วให้คนเดินเข้ามาหางานทำ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม การจัดระเบียบ และลดต้นทุนในการผลิต เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากสัดส่วนของคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง และค่อยๆ ปรับมาเป็นงานในภาคการผลิต แม้กระทั่งประเทศไทยของเราเอง ก็มีสัดส่วนเศรษฐกิจ มาจากภาคบริการโดยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะในรอบ 200 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เราเคยชินกับรูปแบบการทำงานแบบนี้

แต่เนื่องด้วยการปฏิวัติครั้งที่สาม ของมนุษยชาติก็ว่าได้ ที่ก้าวเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต หรือที่บางคนเรียกว่า New Economy ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในสังคมของมนุษยชาติ และก็ยังไม่มีทฤษฎีใดๆ มาอธิบาย และทำนายลักษณะของมันได้ใกล้เคียงที่สุด ในอีกนัยหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่า เราทุกๆ คนในปัจจุบัน มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีความเสียเปรียบ ในเรื่องของการพัฒนาการมากนัก เพราะหากจะว่าไปแล้ว พัฒนาการในด้านอารยธรรม กว่าจะตามกันได้ก็นับเป็นศตวรรษ หรือในยุคอุตสาหกรรม ก็ต้องใช้เวลา 30-40 ปี แถมต้องมีการลงทุนขนานใหญ่ แต่ในยุคของเศรษฐกิจใหม่ เวลาและจำนวนทุน ไม่ใช่ปัจจัยอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อกัน และ เป็นเรื่องของก้อนเนื้อหนักกิโลกว่าๆ ของสมอง ที่หนักเท่าๆ กันทุกชาติทุกภาษา และแม้แต่อายุ ก็ไม่ใช่เป็นอุปสรรค (handicap) อีกต่อไป เพราะคนที่อายุน้อยกว่า มีประสบการณ์น้อยกว่า ก็สามารถต่อกรกับยักษ์ได้เช่นกัน

ด้วยยุคสมัยเช่นนี้ กิจกรรมหลายๆ อย่าง ที่เคยเป็นการตรากตรำ เช่น การวิ่ง การทำงาน การเดินทางไกล ฯลฯ กลับกลายเป็นสิ่งบันเทิงเริงรมย์ไป เช่นกัน ความจำเป็นในการไปทำงาน ในที่ทำงานเป็นกลุ่มก้อน ก็กำลังถูกท้าทายในปัจจุบันนี้ การได้ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ก็ใช่ว่าจะได้รับความนิยมอีกต่อไป โลกกำลังเปลี่ยนแปลง แต่เราส่วนใหญ่กลับเคยชินกับ รูปแบบการทำงานแบบเก่า คนที่กล้าที่จะก้าวออกมาเป็นคนแรกๆ ก็จะได้รับความสำเร็จ มากกว่าคนที่มาทีหลัง ไปตามเกมของธุรกิจ การประสบปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ ถ้ามองในระยะสั้น ก็ถือว่าเป็นวิกฤตอย่างหนึ่ง หากมองไกลออกไป ก็น่าจะดีใจ ที่เป็นสัญญาณในการเปลี่ยนแปลง ในการบังคับให้คนเริ่มมองหาทางเลือก เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่คนเลือกที่จะใช้วิถีชีวิตที่เราเคยชินอยู่ เหมือนกับการที่คนในยุคสมัยนี้เป็นมะเร็งกันมาก เนื่องเพราะการปรับตัวตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ในอนาคต ที่มีภูมิต้านทานมลพิษได้มากขึ้นนั่นเอง

ในปัจจุบันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เรามักจะได้ยินคนพูดถึงการทำงานของตนเอง ถ้าหากเราถามคนทำงานออฟฟิศว่า อยากทำงานอะไร เชื่อได้ว่า เก้าในสิบคนจะตอบว่า อยากออกไปทำอาชีพส่วนตัว และถ้าหากว่าเราถามกลุ่มบุคคลเดียวกัน หลังจากนั้นอีกสิบปี ก็เชื่อว่า คำตอบก็เหมือนเดิม เพียงแต่ว่า จะมีบางคนบอกว่า กำลังเตรียมตัวอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีก ความฝันนี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไป พร้อมกับความกลัวในความไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเมื่อประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แม้แต่คนที่ยึดมั่น ว่าจะเอาดีในการเป็นลูกจ้างมืออาชีพจนเกษียณ ก็เริ่มอยากที่จะเป็นนายของตัวเอง เพราะสถาบันที่เคยพร่ำบอกเรา ให้ซื่อสัตย์ต่อองค์กร และองค์กรก็จะให้หลักประกันแก่เรา ตอบในเรื่องความมั่นคงของงาน เรียกได้ว่า เป็นบ้านที่สองรองจากครอบครัวของเรา แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้น บริษัทหลายๆ แห่งที่เราเคยเชื่อว่า จะเป็นสถาบันที่มั่นคง ก็เริ่มสั่นคลอน เชื่อว่ามีหลายคนในหนึ่งคนที่เหลือ เลือกที่จะทำงานอาชีพของตัวเอง ผมอยากถือโอกาสนี้ เชิญชวนท่านๆ ได้ลองสังเกต และวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อหาโอกาส หาแนวทางใหม่ๆ สำหรับตัวเรา และสังคมที่เราอยู่ ดังที่เกริ่นไว้ว่า โลกใหม่นี้ เป็นโลกที่ไม่มีใครรู้จริง สิ่งที่จะบอกเล่า สรุปกันให้ฟัง จึงเป็นเพียงแค่ขอบเขตแนวทางเท่านั้น โดยอยากฝากข้อคิดว่า อะไรที่สรุปได้แน่นอน คือสิ่งที่ตายแล้ว ไม่มีโอกาสหลงเหลืออยู่ อะไรที่เป็นทฤษฎี คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก