THAILAND SOFTWARE FAIR 2004
เพิ่งผ่านไปหมาดๆ กับงาน Thailand Software Fair 2004 ที่ศูนย์แสดงสินค้าฮอลล์
9 อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 11-14 พฤศจิกายน
ความจริงแล้วมีบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไปออกงานกันหลายราย
แต่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กถึงกลาง ซึ่งออกบูทเล็กๆ ทำให้ใช้พื้นที่ไม่มาก
ในขณะเดียวกันบริษัทซอฟต์แวร์ต่างประเทศรายใหญ่ๆ เหมือนไม่ให้ความสำคัญกับงานนี้เลย
งานนี้เป็นงานแรกที่จัดแสดงซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ (แม้จะมีฮาร์ดแวร์มาบ้าง)
จึงถือเป็นบทเรียนสำหรับบ้านเราที่จะต้องมาวิเคราะห์ พิจารณาว่างานนี้สะท้อนอนาคตซอฟต์แวร์ไทยว่าจะเป็นไปอย่างไร
ทางทีมงานบรรณาธิการ EWORLD ในฐานะเป็นส่วนหนึ่ง ที่อยากจะช่วยผลักดันด้านซอฟต์แวร์ให้เติบโตมากขึ้น
ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทีมจัดงานครั้งนี้ด้วยครับ
หากเทียบงานแสดงซอฟต์แวร์ กับงานที่ขายฮาร์ดแวร์ถูกๆ ที่จัดห่างกันไม่กี่วัน
มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะการขายฮาร์ดแวร์นั้น ปัจจุบันว่ากันที่ราคาอย่างเดียวแล้ว
สเปกก็ดูง่ายขึ้น ลองนึกเปรียบเทียบดูซิครับว่า หากจะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่อง
เพียงทราบว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ก็สามารถแปลงเป็นเสปกของซีพียู หน่วยความจำ
ฮาร์ดดิสก์ได้แล้ว แต่หากจะซื้อซอฟต์แวร์สักอย่าง เช่น ซอฟต์แวร์บัญชี
จะต้องร่างความต้องการกันวุ่นวาย ทั้งนี้เพราะฝั่งผู้ซื้อยังไม่มีความพร้อมในการเลือกซื้อซอฟต์แวร์
จึงไม่สามารถแปลกระบวนการทางธุรกิจของตน ไปเป็นสเปกของซอฟต์แวร์ได้
จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า ซอฟต์แวร์ที่เลือกมานั้น รองรับระบบการทำงานของธุรกิจได้ครบถ้วนหรือไม่
นอกจากความพร้อมของฝั่งผู้ซื้อซอฟต์แวร์ในการเลือกซื้อแล้ว ปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจตามมาก็คือ
ไม่มีซอฟต์แวร์ใดเลยที่รองรับความต้องการได้ครบถ้วน 100% ทำให้ผู้ซื้อต้องเลือกระหว่าง
การ customize ซอฟต์แวร์ให้เข้ากับธุรกิจ หรือปรับธุรกิจให้เข้ากับซอฟต์แวร์
ความที่ซอฟต์แวร์กับธุรกิจไม่ได้สอดรับกันได้ 100% นั้น น่าจะเกิดจากหลายๆ
สาเหตุ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจอาจไม่ได้ใช้กระบวนการทางธุรกิจตามมาตรฐาน
หรือกระบวนการทางธุรกิจของบ้านเรามีจุดปลีกย่อยที่ไม่ตรงกับมาตรฐาน
หรือทางฝั่งผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ
ทำให้วางเฟรมเวิร์กของระบบงานและการออกแบบซอฟต์แวร์ได้ไม่ครอบคลุม
การเลือกว่าจะให้ปรับซอฟต์แวร์ หรือให้ปรับกระบวนการทางธุรกิจให้เข้ากันนั้น
ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างในการพิจารณา เช่น แบบไหนจะใช้เวลาในการปรับนานกว่ากัน
เสียค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน แต่หากคุณเห็นว่ากระบวนการทางธุรกิจยังไม่ได้ตามมาตรฐาน
การปรับให้เข้ากับมาตรฐานด้วย ก็อาจเป็นทางออกให้คุณในอนาคต เพราะซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่
ที่พัฒนาตามกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นมาตรฐานนั้น
ก็มักจะรองรับวิธีการทางธุรกิจในอนาคตได้มากกว่าด้วย
เรื่องนี้ถือว่าสำคัญเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ ในบ้านเรา หลายๆ ธุรกิจเพิ่งเริ่มนำไอทีมาใช้ในธุรกิจ
ซึ่งในเฟสแรก มักจะเป็นเพียงการนำมาใช้ในส่วนของ operation เพื่อให้มีการทำงานเป็นระบบ
มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน ลดงานซ้ำซ้อน ทำงานได้เร็วขึ้น
ถูกต้องมากขึ้น แต่หลังจากเฟสนี้แล้ว ก็จะต้องมองการใช้ไอทีเพื่อเสริมกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่อไป
ดังนั้นหากเริ่มต้นด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ในเฟสต่อๆ ไป ก็จะต้องปรับอยู่ดี
การใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะสำหรับธุรกิจเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ
SME ทั้งนี้เพราะซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจประเภทใด
ประเภทหนึ่ง ต่างจากซอฟต์แวร์บัญชี หรือเงินเดือน
เนื่องจากต้องการทำให้สอดคล้องกับกระบวนการเฉพาะของธุรกิจนั้นๆ
เช่น ธุรกิจสปา กับธุรกิจศูนย์ซ่อมรถ หรือธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย
ล้วนมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์เฉพาะทางนี้
กับซอฟต์แวร์บัญชีอาจเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ
เช่น อาจต้องใช้วิธีโอนย้ายไฟล์ หรือคีย์ข้อมูลเข้าไปใหม่ก็ได้
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เฉพาะสำหรับธุรกิจ ก็คือ
จะทราบได้อย่างไรว่ามีซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจของตน
อย่างทุกวันนี้มีผู้อ่านสอบถามเข้ามาว่าต้องการหาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจนั้น
ธุรกิจนี้ ทางทีมบรรณาธิการก็หาได้บ้าง ไม่พบบ้าง คิดอยู่เหมือนกันในงานนี้
จะมีคนมาเดินหาซอฟต์แวร์ที่ตัวเองต้องการพบไหม
ครับ! ประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจซอฟต์แวร์ยังมีอีกมากมาย ปีหน้าจึงเป็นปีที่เราจะต้องแก้ปัญหาต่างๆ
เหล่านี้ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แล้วอนาคตของซอฟต์แวร์ไทยจะไปได้อีกไกลครับ