OPEN

นนทรีย์ นิมิบุตร
 

TAKE 1

ก่อนหน้า จัน ดารา ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของ นนทรีย์ นิมิบุตร จะลงโรงช่วงปลาย เดือนกันยายน นนทรีย์เปิดใจ ให้สัมภาษณ์กับ OPEN แบบเต็มเหยียด

แต่ช้าก่อน มันไม่ใช่บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง จัน ดารา อย่างที่คุณคิด แต่มันเป็น ประสบการณ์ชีวิต ของคนคิดทำเรื่อง จัน ดารา และกล้าประกาศกับตัวเองว่า เป็น film maker หลังทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จ

แม้ 2499 อันธพาลครองเมือง และนางนาก ภาพยนตร์ 2 เรื่องแรกของเขา จะกวาดรายได้ไป มากกว่า 200 ล้าน แต่นนทรีย์ กลับพูดอย่างเต็มปากว่า

"ทุกวันนี้ ผมเหมือนมีเกียรติ แต่ไม่มีตังค์"

อะไรคือทุกข์ของคนทำหนังไทย

อะไรทำให้หนังไทย พัฒนาไปไม่ถึงไหน

และคนทำหนัง ดำเนินชีวิตกันจริงๆ อย่างไร

นนทรีย์ นิมิบุตร

มีคำตอบอย่างชัดเจน

สูตรสำเร็จ

พูดถึงความสำเร็จของหนัง ผมว่าเราไม่สามารถจะตัดสินใจว่า มันเกิดอะไรขึ้นในแต่ละครั้ง การทำหนังขึ้นมาสักเรื่อง กระทั่งฉายออกไป บางเรื่องประสบความสำเร็จ ในแง่ของรายได้ บางเรื่องไม่ประสบความสำเร็จ ในเรื่องของรายได้ แต่ได้รางวัล คือมันไม่มีสูตรสำเร็จ ที่จะชี้ชัดลงไปได้ แต่ถ้าสังเกต เราจะเห็นจุดร่วมของมัน นั่นคือความตั้งใจในการทำงาน ทั้งในด้านความคิด ด้านการแสดงออก ในงานโปรดักชั่น หรือด้านการถ่ายทำ สิ่งเหล่านี้ สามารถเห็นได้ชัดเจน คนดูก็จะรู้สึกว่า เขาไม่ได้ดูหนังที่ทำสั่วๆ แล้วก็สรรเสริญในใจ "เอาอะไรทำวะ" หนังบางเรื่อง คนอาจไม่ชอบเท่าไหร่ แต่ได้รับรางวัล อย่างเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" หรือ Bangkok Dangerous บางคนอาจะไม่ได้สัมผัสถึง สิ่งที่เขาต้องการ ที่สำคัญสิ่งที่เขาพูด มันอาจอยู่นอกเหนือ จากสิ่งที่เขาเคยสัมผัส หรือว่าการโปรโมชั่น มันไม่สำเร็จ

จริงๆ แล้วความสำเร็จของหนังแต่ละเรื่อง เราสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ทำหนังที่ดี ให้ได้มาตรฐาน แง่นี้เราสามารถควบคุมได้ แต่หนังเรื่องนี้ จะดีในแง่ของการตลาดหรือไม่ ไม่ทราบ ได้รางวัลหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะบางทีมาตรฐานอันนี้ดี แต่มันก็ยังมีที่ดีกว่า คือมาตรฐานในงาน มันพูดถึงเรื่องของฝีมือ เหมือนกับจิตรกร ที่เขียนรูปสวย จิตรกรอาจไม่ใช่ศิลปิน แต่อาจจะมี ความเป็นจิตรกรอยู่ในตัว คือเขียนรูปสวย ขณะเดียวกัน อีกคนก็เขียนรูปสวย และเป็นศิลปิน นั่นเป็นเพราะว่า เขามีความคิดความอ่าน หรือลุ่มลึกกว่า

ทางที่ดีที่สุด คือทำหนังด้วยความตั้งใจ คิดให้เยอะที่สุด ที่สำคัญต้องซื่อสัตย์กับหนัง ซื่อสัตว์กับคนดูอย่าง ฟ้าทะลายโจร เห็นได้เลยว่า เป็นความแปลกใหม่ ทำไมในเมืองไทย จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ทำไมต่างประเทศ ถึงได้ฮือฮา จนกระทั่งไปเมืองคานส์ และขายได้ทั่วโลก มันก็โจทย์เดียวกับ Crouching Tiger Hidden Dragon คือ ฉายในเอเชีย ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เก็บเงินได้ไม่มาก เพราะอะไร เพราะว่าเราเองก็ดูกันจนชินแล้ว เช่นเดียวกัน ฟ้าทะลายโจร ก็เป็นหนังไทย และเป็นไทยแท้ๆ อย่างผมเอง ผมก็ดูมาเยอะ จนรู้สึกชินกับมัน คนดูทั่วไป ก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน คือเขาเฉยๆ กับมัน เขาไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น แต่ในต่างประเทศ คนต่างประเทศโอ้โห มันเป็นความใหม่ของเขา เหมือนกับ Crouching Tiger Hidden Dragon เขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ก็เลยเป็นความหวือหวาในต่างประเทศ

จุดยืนและหลักการ

ทำหนังทุกวันนี้ ผมยึดเอาความสุขเป็นหลัก ถือความอยากเป็นที่ตั้ง เรียนตามตรง พูดตามความสัตย์จริงเลย หนังทุกเรื่อง ทุกโปรเจ็กต์ ล้วนแต่เป็นความอยากของผมทั้งนั้น อยากเห็น อยากดู อยากทำ อยากรู้ ก็เลยทำ เพราะไม่มีใครทำให้ดู อย่างโปรเจ็กต์ นางนาก ผมก็บอกว่า ผมอยากดูในแบบที่เป็นอย่างนี้ ซึ่งถ้าบังเอิญมีคนทำแล้ว ผมก็จะอิ่มเลย ผมจะไม่ทำเลย แค่นั้นเอง หนังแต่ละเรื่อง ที่ผมทำ ผมจะมานั่งคิดว่า อยากทำอะไรอีก อยากดูอะไรอีก อย่างสองเรื่องที่ผ่านมา มันฝังใจผม มาตั้งแต่อดีตทั้งนั้น เคยสัมผัส เคยได้รู้สึกอะไรกับมัน ก็เลยติดใจมาตลอด เหมือนกัน เรื่องต่อไปพอคิดปุ๊บ ผมก็คิดถึงเรื่องที่มันติดใจเรา มาตลอดเวลา ซึ่งยังคงค้างคาใจยังไม่เห็น ยังไม่ได้ดูเสียที ก็เลยอยากทำ

ผมบอกตามตรงว่า ทุกเรื่องที่ทำ ไม่ได้คำนึงว่าหนัง มันจะได้กล่องหรือจะได้เงิน แต่ผมมักจะคิดในมุม ที่เราเคยเป็นเถ้าแก่บริษัทโฆษณา ทุกครั้งที่เราลงทุน เราอยากได้ทุนคืน บวกกำไรอีกนิดหน่อย ผมคิดเท่านี้เอง และผมก็เชื่อนะว่า หนังผมจะได้ทุน แต่กำไรจะได้เท่าไหร่ ไม่รู้นะ แต่ไม่น่าขาดทุน ที่เรามองเห็นตรงนั้นได้ เพราะผมมีทีมงานที่ดี วิธีการจัดการที่ดี ที่สำคัญสิ่งที่ผมฝันมันเป็นจริง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่ผมฝันมันถูกหรือผิด และสิ่งที่ผมฝัน สิ่งที่ผมทำมันก็ออกมา ได้มาตรฐานที่ดี ระดับหนึ่ง ที่ผมกล้าพูดอย่างนั้น เพราะงานทุกชิ้นเราเตรียมกันเป็นปีๆ แล้วก็ลงมือทำอีกปี ทุกชิ้นงานใช้เวลาสองปี มันจึงน่าจะได้มาตรฐานที่ดี ในระดับหนึ่ง แต่มันจะพัฒนาไปถึงไหน ผมเองก็ไม่ทราบ

นอกจากเรื่องของทีมงาน ผมว่าเรื่องรูปแบบความคิด การถ่ายทอดความคิด เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคำจำกัดความของผู้กำกับฯ คือนักเล่าเรื่อง ซึ่งนักเล่าเรื่องที่ดีนั้นจะต้องสามารถ ถ่ายทอดความคิด ทัศนคติมุมมองของตัวเอง ต่อเรื่องนั้นๆ ให้ได้ ตรงนี้เราก็จะต้องมานั่งดูว่า เขาถ่ายทอดออกมาได้ลุ่มลึกแค่ไหน พื้นๆ หรือว่ามีความลึกซ่อนอยู่ บางคนคิดมาก มันก็จะมีความสลับซับซ้อนที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับกระบวนการคิด และกระบวนการคิดดังกล่าว มันต้องสะท้อนความเป็นตัวตน ของแต่ละคนด้วย แต่ถ้าผมถาม ผมว่าความคิดอย่างไหนเป็นไทย อย่างไหนเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ผมตอบไม่ได้หรอก แต่ผมบอกได้อย่างเดียวว่า อะไรที่เป็นตัวเรานี่แหละ คือสิ่งที่ต่างประเทศสนใจที่สุด เพราะว่าเขาไม่ได้อยากดูหนังไทย ที่ทำแบบ สแตนลีย์คูบิก ทำแบบ หรือทำแบบ สปีลเบอร์ก แต่เขาอยากดูหนังไทย ที่เป็นฉบับของ เป็นเอก อยากดูฉบับวิศิษฎ์ ฉบับนนทรีย์ คือความเป็นตัวตนของเราเอง

ความที่เราเป็นคนไทย ฝรั่งเขาก็อยากรู้ว่า เราเองมองเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า ฝรั่งเขาอาจจะมอง เรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง แต่เรื่องเหล่านั้น มันอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เราคิดอะไรอยู่ เรามีความเชื่อแบบไหน ในตัวเรา ต่อเรื่องต่างๆ เราต้องสะท้อนมันออกมา ความคิดที่เป็นไทย นี่แหล่ะสำคัญที่สุด และความเป็นไทย ที่ว่ามันไม่ใช่แค่ คนนุ่งโจงกระเบนกินหมาก แต่มันคือระบบความคิด อย่างหนังที่ผมใช้เป็นตัวอย่างเสมอ คือหนังของคุณเป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งหนังของเขา ถ้าดูจากการวิธีเล่าเรื่อง มันเป็นสากลมาก ถามว่าอะไรที่มันจะบอกว่า หนังของเป็นเอก เป็นหนังไทยล่ะ ความคิดของเป็นเอกนั่นแหล่ะ เพราะว่า เป็นเอก เป็นคนไทย เขาก็ต้องรู้สึกอย่างคนไทย เขา inspired จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา ในยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ความเป็นไทยก็ยังคงอยู่ และโดยลึกๆ ไม่มีใครรู้ว่า เป็นเอก เชื่อในเรื่องของโชคลาง มากกว่าหลายๆ คน และอาจจะมากกว่าผมด้วยซ้ำ ในบางแง่มุมทั้งที่ผมเอง เป็นคนทำหนังโบราณ

:: อ่านต่อในฉบับ ::

Source : กองบรรณาธิการ

:: กลับไปหน้าหลัก ::