ข้างหลังภาพ
ข้างหลังภาพ
Official website
แนว : รัก
ความยาว : 117 นาที
กำหนดฉาย : 30 มีนาคม 2544

ม.ร.ว. กีรติ (คารา พลสิทธิ์) เป็นลูกเจ้า "เจ้า" ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นอยู่อย่างเป็นเจ้าเป็นนายจริงๆ เหมือนแยกโลกกันอยู่กับสามัญชน กีรติถูกท่านพ่อ (ปรีดา จุลละมณฑล) เลี้ยงแบบเลี้ยงนกน้อยแสนสวยไว้ในกรงทอง เพราะท่านพ่อเลี้ยงเธออย่างหวงแหน โดยต้องการให้เป็นเจ้าหญิงสูงศักดิ์ จนไม่มีชายใดมีโอกาสเข้าถึง กีรติจึงไม่เคยมีชายใดรักและขอแต่งงาน ในขณะที่น้องสาวอีก 2 คน ที่ไม่ได้สวยสง่าเท่าเธอ ได้แต่งงานกับคนรักไปทีละคน กีรติเฝ้าคอย

ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต

กีรติเชื่อมั่นเช่นนี้ จึงหวังและรอที่จะได้รับ "พร-ความรัก" ตั้งแต่เริ่มรุ่นสาว รอจนกระทั่งอายุ 34 ปี - ผ่านวัยครึ่งคนแล้ว ก็ยังไม่เคยได้รับพรนี้เลย เมื่อรู้สึกว่าสิ้นหวัง จึงยอมแต่งงานกับพระยาอธิการบดี (ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา) พ่อม่ายเมียตาย ซึ่งเป็นคนดี สูงอายุวัยพ่อ มาสู่ขอกับท่านพ่อ

เจ้าคุณอธิการฯ พากีรติไป "ฮันนิมูน" ที่ญี่ปุ่น โดยขอร้องให้ นพพร (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) ลูกชายของเพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่น มาช่วยเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวญี่ปุ่น เขากับเธอ พบกันครั้งแรกที่สถานีรถไฟโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ.2480 ในขณะที่นพพรอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยริคเคียว และเธออายุ 35 ปี

เจ้าคุณอยากให้คุณหญิงได้รับความสุขจากการมาเที่ยวญี่ปุ่น แต่ท่านก็แก่เกินกว่าจะไปไหนต่อไหนได้หลายแห่ง จึงขอร้องให้นพพร รับภาระพาคุณหญิงกีรติเที่ยวตามลำพัง นั่นเป็นโอกาสให้นพพร เด็กหนุ่มที่ไม่เคยรู้จักความรักมาก่อน ได้อยู่ใกล้ชิดกับหญิง - แม้จะสูงวัยกว่า แต่เธอก็สวย สง่า กิริยาวาจาแช่มช้อย สมกับที่เป็นผู้ดีแท้ ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งนานวัน นพพรก็ยิ่งหลงรัก - เทอดทูนกีรติ เป็นรักครั้งแรกของหนุ่มวัย 22 ปี รักทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเธอมีชายอื่นเป็นเจ้าของ

นพพรไม่เข้าใจว่า ทำไมกีรติ ซึ่งสวยมาก สง่างามมาก ฉลาดล้ำลึก ฐานะเดิมก็ดีอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งไม่ได้ถูกใครบังคับ และไม่ได้รักเจ้าคุณด้วย จึงยอมแต่งงานกับชายชราวัยพ่อ นพพรเฝ้าถามครั้งแล้วครั้งเล่า กีรติเลี่ยงที่จะตอบ จนกระทั่งถึงวันที่เขาพาเธอไปเที่ยว มิตาเกะ กีรติผู้วางตัวสง่างามอยู่เนืองนิจ กลับกลายเป็นสาวน้อย ผู้ร่าเริงอยู่ท่ามกลางแมกไม้และสายน้ำ ในที่สุด เขาก็สารภาพรักกีรติที่ริมลำธาร บนภูเขามิตาเกะ ในวันที่พาเธอไปเที่ยวนั่นเอง

นพพรเฝ้าถามกีรติว่า "คุณหญิงรักผมไหม ?" แต่กีรติไม่เคยตอบตรงคำถามเลย นพพรยืนยันว่า เขาจะรักกีรติไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย

พ.ศ.2484 เจ้าคุณอธิการบดี เป็นวัณโรคเสียชีวิต กีรติจึงกลับเป็นโสดอีกครั้งหนึ่ง กีรติวาดภาพ "ริมลำธาร" และรอคอยนพพร ที่จะกลับในอีก 3 ปีข้างหน้า ..อีก 3 ปี กีรติอายุ 42 ปี... รอรับ "พร-ความรัก" อีกครั้ง

ณ บัดนี้ กีรติเปิดหัวใจของเธอ ให้นพพรรับทราบโดยแน่ชัดแล้ว โอกาสที่นพพรจะแต่งงานกับกีรติก็มีแล้ว แต่.. "ความรัก" จะบันดาลให้ ม.ร.ว.กีรติวัย 42 ปี กับ นพพร วัย 29 ปี ได้แต่งงานกัน - สมค่าแห่งความเป็น "พรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต" หรือไม่ ?


ภาพนั้นเขียนด้วยสีน้ำ มีชื่อ "ริมลำธาร" ปรากฏอยู่ที่มุมล่างด้านซ้าย ฝีมือเขียนอยู่ในระดับธรรมดาๆ แต่พอจะมองเห็นเค้าโครงร่างของคน 2 คนนั่งเคียงคู่กันอยู่บนก้อนหินใต้ต้นไม้ริมลำธารที่บ่งบอกสถานที่ไว้ด้วยว่า "มิตาเกะ"

ใครหลายคน อาจจะรู้จัก "มิตาเกะ" ว่าเป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง อยู่ที่ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่จะรู้ว่า ภาพ "ริมลำธาร" มี "ข้างหลัง"... "ข้างหลัง" อันเป็นอดีต - เป็น "ข้างหลังภาพ" แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ งดงาม ในหัวใจของชายหญิงคู่หนึ่ง

...นพพร กับ ม.ร.ว.หญิงกีรติ

นั่นคือข้อความเปิดเรื่องของ ข้างหลังภาพ บทประพันธ์คลาสสิกของ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เผยแพร่เป็นครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ถูกตีพิมพ์วันต่อวัน เริ่มตอนแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2479 ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2480 จบบทที่ 12 เป็นเหตุการณ์ตอน ม.ร.ว.กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ ความจริง ศรีบูรพาตั้งใจจะจบ ข้างหลังภาพ เพียงเท่าที่เขียนในประชาชาติ คือจบแค่ 12 บท แต่โดยที่ผู้อ่านชอบเรื่องนี้มาก ประกอบกับ สำนักงานนายเทพปรีชา ที่ครูกับเพื่อนร่วมกันตั้งขึ้น เห็นว่า น่าจะเอา ข้างหลังภาพ มาพิมพ์รวมเล่ม และเพื่อจะให้มีจุดขายดียิ่งขึ้น ครูจึงเขียนต่ออีก 7 บท โดยถือว่าที่เขียนจบในประชาชาติเป็นภาคแรก หรือภาคต่างประเทศ ส่วนที่เขียนใหม่เป็นภาคจบสมบูรณ์ หรือภาคในประทศ ข้างหลังภาพ ฉบับสมบูรณ์ที่อ่านกันอยู่ทุกวันนี้จึงมี 19 บท อย่างไรก็ตาม ยังต้องถือว่า 12 บทแรก หรือภาคแรก เป็นความหมายหลักของ ข้างหลังภาพ ที่เป็นชื่อเรื่องด้วย

จวบจนถึงปี พ.ศ.2543 รวม 63 ปี ข้างหลังภาพ ถูกตีพิมพ์มาแล้ว 34 ครั้ง ไม่นับครั้งที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ สร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งโดยการกำกับของ เชิด ทรงศรี, อำนวยการสร้างโดย จันนิภา เจตสมมา, อำนวยการบริหารโดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, กำกับภาพโดย โสภณ เจนพานิช, โดยมี ณัฎฐวี ทศรฐ, นลิน บุญวิโรจน์ฤทธิ์ และ เกตุ พิทยากรศิลป์ เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, ถ่ายภาพโดย พิพัฒน์ พยัคฆะ, ลำดับภาพโดย มหศักดิ์ ทัศนพยัคฆ์, กำกับศิลป์โดย ศักดิ์ศิริ จันทรังษี และ วรรณะ มหากนก, ออกแบบเสื้อผ้า-เครื่องแต่งกายโดย รชตะ สุพาสนาพิวัฒน์, แต่งหน้าโดย อนุพงษ์ อนิบล, แต่งผมโดย โสภา กำพลวรรณ และ ทวิช ส้มมณี, ธัชตะวัน ทรงศรี เป็นผู้ควบคุมความต่อเนื่อง, วาสนา ศรีทอง ทำหน้าที่ผู้จัดการกองถ่าย, มนตรี วัดละเอียด รับหน้าที่สไตล์ลิสต์, ดนตรีประกอบเป็นผลงานของ จำรัส เศวตาภรณ์

ข้างหลังภาพ นำแสดงโดย คารา พลสิทธิ์ รับบท หม่อมราชวงศ์กีรติ, ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ รับบท นพพร, ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา รับบท พระยาอธิการบดี, วันชาติ ชุณห์ศรี รับบท พันตรีพงศธร, ธิดา สิงห์จันทร์ รับบท ปรีดิ์ คู่หมั้นของนพพร, ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ รับบท นายแพทย์วิชา, ปรีดา จุลละมณฑล รับบท ท่านพ่อของกีรติ, พิราวรรณ ณ นคร รับบท หม่อมแม่ของกีรติ, นวลปรางค์ ตรีชิต รับบท คุณน้าของกีรติ, รศ.จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย รับบท แม่แย้ม แม่ครัวของพระยาอธิการบดี, ผศ.วันชัย ธนะวังน้อย รับบท พ่อของนพพร, วรรณษา ทองวิเศษ รับบท สุธาร น้องสาวของหม่อมราชวงศ์กีรติ, อนูวรรณ ปรีญานนท์ รับบท วิจารุ, พันธสัญญ์ อังคู่ธาร รับบท อำนาจ, พิพัฒน์ เลิศสุทธิผล รับบท เรืองเดช


เพลงประกอบภาพยนตร์

  • กีรติ (ขับร้องโดย สุนิตา ลีติกุล)
  • Truth in My Heart (ขับร้องโดย สายสุนีย์ สุขกฤต)