"สุริโยไท" เป็นภาพยนตร์ระดับชาติ ที่สร้างด้วยงบประมาณสูงสุด ในประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ของประเทศ และยังเป็นภาพยนตร์ที่รวมดาราชั้นนำที่มีชื่อเสียง มาร่วมแสดงมากเป็นประวัติการณ์ พร้อมนักแสดงประกอบนับหมื่น เสริมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการทำเทคนิคพิเศษ ให้ดูงดงามตระการตายิ่งขึ้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ "สุริโยไท" เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่เสนอเรื่องราวของประเทศไทย สมัยอยุธยา ช่วงพุทธศักราช ๒๐๖๙ - ๒๐๙๒ (ค.ศ. ๑๕๒๖ - ๑๕๔๙) ผ่านมุมมองของ โดมิงโก ดือ ซีซัส ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอโยธยา เป็นเวลากว่า ๒๕ ปี และได้ทำหน้าที่เป็นทหารราชองครักษ์ ของสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗ - ๒๐๘๙ / ค.ศ. ๑๕๓๔ - ๑๕๔๖) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๙๓ (ค.ศ. ๑๕๕๐) ดือ ซีซัส ได้กลับไปถวายรายงาน ต่อพระเจ้าโยฮันที่ ๓ กษัตริย์แห่งโปรตุเกส และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์โปรตุเกส ได้จดบันทึกไว้ เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทยอีกฉบับหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิต ของตัวละครที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ผนวกกับจินตนาการ จำลองภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ในราชสำนัก และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ ในราชอาณาจักรอโยธยายามสงบ และยามศึกสงคราม การค้นคว้าเพื่อเตรียมสร้างภาพยนตร์ "สุริโยไท" ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๕ ปีเศษ โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล ในประเด็นที่ยังเป็นข้อโต้แย้ง และมีทีมงานค้นคว้าข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อความสมจริงของภาพยนตร์ ทางด้านหลักฐานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของข้อมูลต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และทีมงานฝ่ายข้อมูลสุริโยไท ได้ทำงานค้นคว้า รวบรวมจากหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารฉบับต่างๆ มากมาย โดยเริ่มจากการอ่านให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ตัวอย่างพงศาวดาร ที่นำมาใช้ประกอบการค้นคว้าของทีมงานภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" เช่น พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับบริติสมิวเซียม ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นอกจากนี้ ยังมีพงศาวดารของชาวต่างประเทศที่สำคัญ คือจดหมายเหตุของปินโต (The Traveis of Mendes Pinto by Fornao Mendes Pinto) ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น จึงได้เขียนเป็นจดหมายเหตุขึ้นมา อีกทั้งยังได้ดูพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว หอหลวง ดูรวมไปถึงพงศาวดารเขมร ลาว ญวน โยนก การสร้างภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับพระสุริโยไท ตั้งแต่วัย ๑๕ พรรษา จนกระทั่งสิ้นพระชนม์คราวยุทธหัตถี พระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ซึ่งเป็นอยู่ในช่วงอยุธยาตอนต้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยดังกล่าว มีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ทางทีมงานจึงได้นำหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีอยู่ทั้งหมด มารวบรวมโดยผสมผสานกับจินตนาการ เพื่อนำมาสร้างชิ้นงานให้ทุกอย่างออกมาสมจริงมากที่สุด การทำหนังประวัติศาสตร ์แตกต่างกับหนังร่วมสมัย เนื่องจากต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฉาก การแต่งตัว เป็นการจำลองให้ดูสมจริง เหมือนเป็นการจำลองประเทศ จำลองเมือง จำลองวัฒนธรรมขึ้นมา โดยเรียบเรียงจากประวัติศาสตร์ คัดสรรนักแสดง สำหรับการคัดสรรนักแสดง ทีมงานสุริโยไทได้ใช้เวลาในการเตรียมงาน ยาวนานพอสมควร โดยเริ่มจากการอ่านบทภาพยนตร์ ประชุมทีมงานและผู้กำกับ ร่วมกันตีความตัวละครในแต่ละตัว สรุปลักษณะนิสัยของตัวละคร และเมื่อได้รายละเอียดทั้งหมดแล้ว จากนั้นจึงเริ่มค้นหานักแสดง ในการคัดเลือกนักแสดงสำหรับเรื่องนี้ มีขั้นตอนโดยเริ่มจาก เมื่อได้รายละเอียดทั้งหมดแล้ว ทีมงานจะทำการเชิญนักแสดง ที่คาดว่าน่าจะมีความเหมาะสม มาทดลองแต่ชุดของตัวละครต่างๆ ลองถ่ายรูปในอิริยาบทต่างๆ นักแสดงบางท่าน ก็ไม่ได้ใส่ชุดของตัวละครเพียงตัวเดียว อาจจะต้องใส่ชุดของตัวนั้น ตัวนี้ เพื่อดูว่ามีความเหมาะสม ที่จะรับบทเป็นตัวใดมากที่สุด จากนั้น ทีมงานจะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากนักแสดง พร้อมทั้งรูปถ่าย นำเสนอผู้กำกับ และก็จะสรุปออกมาเป็นระยะๆ นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงในใจที่ท่านมุ้ย ซึ่งเป็นผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่องนี้ คิดไว้ว่ามีความเหมาะสม และท่านก็จะระบุเลยว่า นักแสดงท่านนี้ต้องรับบทนี้ถึงจะดีที่สุด ซึ่งทีมงานก็จะเชิญมาใส่ชุดและถ่ายรูปด้วยเช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการค้นคว้าโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง การจัดเตรียมนักแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงไม่สามารถลงตัวได้โดยง่าย เนื่องจากในตัวละครบางตัว ในช่วงแรกสามารถสรุปคาร์แร็คเตอร์ลักษณะนิสัย ช่วงอายุ และรายละเอียดทั้งหมดแล้ว แต่เมื่อค้นหาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตัวละคร เช่น ตัวละครตัวนี้คาดว่าน่าจะมีอายุระหว่าง ๓๐ - ๔๐ ปี แต่เมื่อค้นหาได้หลักฐานเพิ่มเติม เมื่อบวกลบปี พ.ศ. กันแล้ว สรุปว่าจะต้องมีอายุระหว่าง ๔๐ - ๕๐ ปี ทีมงานก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงตัวนักแสดง เพื่อให้มีความเหมาะสม ในตัวละครบางตัวจะมีการทำดับเบิ้ลแคสติ่ง คือเป็นการหาตัวละครที่มีใบหน้าคล้ายกัน เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ที่ต้องมีการกล่าวถึงในช่วงวัยเด็ก เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้ว ถือได้ว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักแสดงทุกท่าน เพราะทุกคนต่างก็เต็มใจเล่นเทคิวให้อย่างเต็มที่ ในส่วนของนักแสดงประกอบที่มีมากมายในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้มีการจัดทีมคัดเลือกนักแสดงประกอบขึ้นมา ๑ ชุด โดยทำงานร่วมกับโมเดลลิ่ง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ในการคัดเลือกเราจะเริ่มจากการสมัครใจของนักแสดง เพราะในบางคนอาจจะต้องมีการตัดผม เปลือยอก หรือบางคนอาจจะต้องมีบทพูด ทีมงานจะเลือกจากความสามารถ นอกจากนี้ยังมีนักแสดงที่เป็นคนพื้นที่ ที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในระยะหนึ่ง ให้กับคนในพื้นที่นั้น สถานที่ถ่ายทำ เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมา การดำเนินงานสร้างเป็นไปตามแนวประวัติศาสตร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ สาขาร่วมเป็นที่ปรึกษา สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ จะมีด้วยกันหลายแห่งด้วยกัน ฉากส่วนมากจะใช้สถานที่ถ่ายทำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอยุธยา โดยทางทีมงาน สุริโยไทได้ก่อสร้างฉากต่างๆ ขึ้นมาใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นฉากพระราชวัง ฉากหมู่บ้านสมัยอยุธยา ฉากหมู่บ้านตีดาบ เป็นต้น และบางฉาก ทางทีมงานก็ได้ใช้สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริงในการถ่ายทำ นอกจากนี้ ยังได้ใช้สถานที่อื่นๆ อีก เช่น ฉากทุ่งลุมพลี ซึ่งเป็นสถานที่รบเกิดสงครามยุทธหัตถี ทางทีมงานได้ใช้พื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ เป็นสถานที่ถ่ายทำ เนื่องจากฉากนี้ต้องการสถานที่ ที่มีความกว้างเพียงพอ ในการที่จะก่อสร้าง ค่ายทหาร ขุดคู-คลอง กำแพงเมือง นอกจากจังหวัดสุรินทร์ จะมีศักยภาพทางด้านพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ยังมีจำนวนของช้าง และคนที่ต้องเข้าฉาก มากพอในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ฉากรบเชียงไกร - เชียงกราน เป็นอีกฉากหนึ่ง ที่ทีมงานใช้สถานที่ที่มีความแตกต่าง คือทีมงานได้ยกกองไปถ่ายทำที่จังหวัดชลบุรี ตามที่สันนิษฐานกันว่า เชียงไกร - เชียงกราน น่าจะอยู่ชายทะเล เป็นเมืองชายทะเลเมืองค้าขาย จะขายสินค้าทางบกก็ต้องผ่านเมืองนี้ จะค้าขายทางน้ำต้องผ่านเมืองนี้ จึงเป็นเมืองที่เกิดการแย่งชิงกัน ทีมงานสุริโยไทได้ใช้พื้นที่ของสัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหาร มีบริเวณที่กว้าง โดยทีมงานได้เข้าไปสร้างฉาก กำแพงเมือง ใช้จำนวนคนเข้าฉากนับพันคน อาภรณ์และเครื่องประดับ ภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" เป็นภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ ที่ถ่ายทอดความงดงามของศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น ในยุคนั้นมีการแบ่งออกเป็นราชวงศ์ต่างๆ ได้แก่ ราชวงศ์พระร่วง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดในรูปแบบการแต่งกาย และเครื่องประดับของราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ล้านนา และ พม่าในยุคอังวะ เครื่องแต่งกายในแต่ละชุด ของตัวละครของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ออกแบบและทีมงานฝ่ายเสื้อผ้า จะต้องศึกษาในรายละเอียดมากมาย จากข้อมูลที่ต่างๆ ที่ยังคงปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดาร หนังสือจดหมายเหตุ ภาพจิตรกรรม ภาพประติมากรรมปูนปั้น รวมไปถึงบทภาพยนตร์จากผู้กำกับ และคาแร็คเตอร์ของตัวละคร ทั้งนี้ เพื่อให้การออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับ และทรงผม ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ค้นคว้ามา และตรงกับบุคลิกของตัวละคร โดยเสริมจินตนาการบางส่วน เพื่อให้ทุกอย่างสมจริงมากที่สุด กว่าที่จะออกมาเป็นชุดในแต่ละชุดได้นั้น ต้องผ่านการค้นคว้า และทดลองทำอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะผลิตจริง โดยเริ่มจากการหาวัสดุที่เหมาะสม เช่น ผ้าไหม ผ้าเขียนทอง ผ้าลายอย่าง ผ้าฝ้าย ผ้าส่าหรี เป็นต้น โดยที่วัสดุบางอย่าง จะต้องทำการสั่งทำขึ้นเฉพาะ ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น จากนั้นทดลองทำสีผ้า ผ้าทุกสีทุกชิ้น จะต้องอยู่ในโทนสีกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้เข้ากับสภาพแสงที่จัดขึ้น สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังต้องฝึกวิธีการนุ่งผ้าที่ใช้เวลาน้อยที่สุด เนื่องจากทีมงานทุกคน จะต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด เพลงประกอบภาพยนตร์ สำหรับผู้ที่ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ของ สุริโยไท คือ ริชาร์ด ฮาร์วี่ นักประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีสากล โดยใช้วงออเครสต้าร์ขนาดใหญ่ ผสมกับเครื่องดนตรีไทย ซึ่งจะมีกลอง ระนาด ฆ้องวง เป็นต้น โดยเครื่องดนตรีไทยทั้งหมด ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คีย์ของเสียง เข้ากับเครื่องดนตรีสากลของฝรั่ง เสียงเครื่องดนตรีไทยทั้งหมด จะอัดเสียงที่เมืองไทย นักดนตรีเป็นคนไทย ทางด้านดนตรีสากล ใช้วงซิมโฟนี่ออเครสต้าร์ของฮังการี อัดเสียงที่เมืองบูดาเปส เพลงของสุริโยไทนั้น จะเน้นทางด้านความรู้สึกมากกว่าสำเนียง งานด้านเทคนิคพิเศษ สำหรับงานด้านเทคนิคพิเศษ ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลทางด้านไอที ของผู้สร้างคือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล จึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยี ทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค จาก SGI (SGI Onyx 2) ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิคของโลก มาช่วยในเรื่องของการทำ วีช่วล เอ็ฟเฟ็ค และ การตัดต่อภาพ จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความสมบูรณ์และงดงามอย่างยิ่ง งานศิลปกรรมด้านฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ดนตรีประกอบ และการทำเทคนิคพิเศษ ล้วนประสานกันเพื่อเน้นความยิ่งใหญ่ประณีต และความสมจริง ด้วยหลักฐานเท่าที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์ เสริมด้วยจินตนาการ เพื่อให้ "สุริโยไท" เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง จากมุมมองของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |