 |
ความคิดเห็นที่ 127 |
|
คุณกุลธิดา ขอบคุณสำหรับคำตอบเรื่องเด็กน้อยคนนั้นค่ะ ^ ^ ไหน ๆ ก็มีผู้ชายที่เขียนนิยายรักแล้ว ไม่แน่ว่าผู้ชายที่ (แอบ) อ่านนิยายรักก็คงมีไม่น้อยเหมือนกันนะคะ
นิยายของนภาลัย ไผ่สีทอง ตอนมัธยมยังเคยพลิก ๆ ดูในร้านหนังสือเช่าหลังโรงเรียนอยู่เลย
มาส่งการบ้านหนึ่งข้อค่ะ ^ ^
========================================
15-6. [อั๊งอังอา] อ่านเรื่องแต่ง 2 เล่ม ที่ตัวละครหลักมีชื่อสามพยางค์ เช่น ชอลิ้วเฮียง ออนอเร่ ปริศนา
ที่เลือกมาเป็นนิยายกับเรื่องสั้นขนาดยาวแนวสืบสวนสอบสวนที่ตัวละครเอกมีชื่อสามพยางค์ทั้งคู่
ตามธรรมเนียม... สุภาพสตรีมาก่อนก็แล้วกันเนอะ
คดีลึกลับ สืบจากศพ (หมา) ผู้เขียน : ดุสิตา สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์ ไครม์แอนด์มิสทรี่ (พ.ศ. 2551) จำนวนหน้า : 218 หน้า
นางเอกกับพระเอกของเรื่องนี้มีชื่อสามพยางค์ทั้งคู่ค่ะ นางเอกเป็นสัตวแพทย์ ชื่อ นวพรรณ (นะ-วะ-พัน) พระเอกเป็นตำรวจ ชื่อ อลงกต (อะ-ลง-กด)
นิยายสืบสวนเล่มนี้เป็นนิยายที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองจากนานมีบุ๊คส์อวอร์ด ปี 2551 (เรื่องที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง คือ ปริศนาเจ็ดสิบล้าน แต่ส่วนตัวเฉย ๆ แม้พระเอกจะเป็นหนุ่มแว่น ส่วนเรื่องที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง คือ ฆาตกรรมลวง เรื่องนี้สำนวนดีที่สุดในความรู้สึกของตัวเอง แต่เพราะความที่เป็นเรื่องแนวองค์กรลับ จารกรรมหน่อย ๆ เลยรู้สึกว่าไม่ใช่แนวเท่าไหร่)
ในเรื่องนี้ หมอนวพรรณ หรือ หมอฝน เป็นสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เอกชนแห่งหนึ่ง ถูกเรียกตัวให้ไปที่ทำงานกลางดึกให้ไปช่วยชันสูตรศพของสุนัขบีเกิลที่ถูกฆ่าและตัดหูข้างหนึ่งไป เหมือนกันกับศพที่พบในคอนโดมิเนียมที่เกิดเหตุฆาตกรรม และอยู่ในความรับผิดชอบของ สารวัตรอลงกตซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เธอต้องอดนอนในหนนี้
คดีที่เริ่มต้นจากการชันสูตรศพหมา นำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ชวนสงสัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขบีเกิลอีกตัวหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เจ็บป่วยด้วยเหตุที่แปลกประหลาด ไหนจะมีเหตุฆาตกรรมในคอนโดมิเนียมแห่งเดิมแทรกซ้อนขึ้นมาอีกคดีหนึ่ง พร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของคนคนหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับปมอดีตในใจของหมอนวพรรณด้วย เหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่ เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร หมอนวพรรณจะช่วยสารวัตรอลงกตคลี่คลายปมปริศนาในคดีนี้และปมอดีตของตัวเองได้หรือใม่ ตามธรรมเนียมนิยายสืบสวน ห้ามสปอยล์ตอนจบ ต้องไปอ่านเอาเองค่ะ ^__^
ส่วนตัว... หันซ้าย หันขวา ใครก็ได้ดูต้นทางหน่อยนะคะ กลัวคนเขียนมาเห็นเข้าแล้วจะใจไม่ดี เพราะไม่นานมานี้เพิ่งทำให้คนเขียนเรื่องนี้เสียเซลฟ์นิด ๆ แบบไม่ได้ตั้งใจมาแล้ว แหะ ๆ
อย่างไรก็ตาม มีหลายส่วนที่ชอบนะคะ พล็อตเรื่องน่าสนใจ การดำเนินเรื่องสนุกใช้ได้ค่ะ เรียกว่าเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนของคนไทยที่สามารถสนับสนุนได้เล่มหนึ่งเลยละ แต่คิดว่า ตัวละครมันเยอะเกินไปหน่อย อย่างไรก็ตาม ถึงตัวละครจะเยอะ แต่เราก็ทายถูก (ฮา) เพราะมีข้อมูลเบี้ยบ้ายรายทางให้เก็บเยอะ ถ้าจะทายไม่ถูก ก็คงเป็นเพราะจำชื่อตัวละครไม่ได้แค่นั้นเอง ถ้าถามว่าดีไหม ส่วนตัวตอบได้เลยว่า ดีค่ะ รู้สึกว่าอ่านแล้วไม่ถูกหักหลังด้วยข้อมูลที่นักสืบรู้คนเดียว (ซึ่งอารมณ์ที่ว่าเกิดขึ้นกับนิยายชนะเลิศอันดับหนึ่งของนานมีบุ๊คส์อวอร์ดปีเดียวกันนี่แหละ - -')
การดำเนินเรื่องช่วงต้น ๆ ค่อนข้างหนืดอยู่พอสมควร อย่างตอนพูดถึงวิธีการชันสูตรศพหมาบีเกิล ใช้เวลาไปค่อนข้างเยอะ ซึ่ง ๆ จริง ๆ แล้วพูดให้สั้นก็ได้ ผ่ายังไง ไม่สำคัญเท่าผ่าแล้วเจออะไรต่างหาก พอมาถึงกลางไปจนถึงปลายเรื่อง คราวนี้ละเร็วเลย ทุกอย่างมาหมด เลยแอบรู้สึกนิด ๆ ว่า ช้า ๆ หน่อยก็ได้ อารมณ์ตัวละครหลักอย่างอลงกตกับนวพรรณบางช่วงรู้สึกว่ามันเหวี่ยง ๆ อยู่นิดหน่อยน่ะค่ะ พออ่านจบแล้ว คดีเคลียร์ แต่มีเรื่องที่ติดใจเรื่องใหม่ คือ สองคนนี้เขาไปรักกันตอนไหน (ฟะ)
ถามว่าชอบไหม... ตอบง่าย ๆ ว่า ก็โอเคแหละ ชอบอยู่นะ ค่ะ ^ ^
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
จบจากนิยายของนักเขียนสุภาพสตรีและมีตัวละครเอกเป็นสุภาพสตรีแล้ว คราวนี้มาถึงคิวสุภาพบุรุษจากต่างประเทศกันบ้าง
QUEENS FULL: 3 Novelets and A Pair of Short Shorts
ผู้เขียน : Ellery Queen สำนักพิมพ์ : Random House (1965) จำนวนหน้า : 173 หน้า
นอกจากนามปากกาของคนเขียนจะเป็น เอลเลอรี่ ควีน แล้ว พระเอกของเรื่องนี้ ยังมีชื่อสามพยางค์ว่า เอลเลอรี่ และมีนามสกุลว่าควีนด้วยละค่ะ
ถ้าใครเป็นแฟนรหัสคดีละก็ น่าจะคุ้นชื่อนี้ดี เพราะเป็นหนึ่งในนักสืบที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณกรรม โดยเอลเลอรี่ ควีนเป็นนามปากกาของลูกพี่ลูกน้องสองคน คือ Frederic Dannay กับ Manfred B. Lee มีผลงานภายใต้ชื่อนี้รวมกัน 53 เรื่อง และเรื่องที่ทำให้นักสืบนักเขียนที่ชื่อเอลเลอรี่เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรก คือ นิยายเรื่อง The Roman Hat Mystery ค่ะ
ใน Queens Full ประกอบด้วยนวนิยายขนาดสั้นสามเรื่อง คือ The Death of Don Juan, The Wrightsville Heirs และ The Case against Carroll และเรื่องสั้นมากอีกสองเรื่อง คือ E=Murderer กับ Diamonds in Paradise
แต่ส่วนตัวคิดว่า น่าจะเป็น 3 Short Shorts and A Pair of Novelets เสียมากกว่า เพราะเรื่องที่ยาวจริง ๆ มี The Death of Don Juan กับ The Case against Carroll ส่วน The Wrightsville Heirs ถึงจะจัดอยู่ในกลุ่ม Wrightsville แต่มันก็สั้นอยู่ดีนั่นละ เพียงแต่ไม่ได้ สั๊น สั้น เหมือนเรื่อง E=Murderer กับ Diamonds in Paradise เท่านั้นเอง
แต่ละเรื่องในเล่ม มีเรื่องย่อ ๆ ตามนี้เลยนะคะ (เรียงลำดับเรื่องตามการปรากฏในเล่ม)
The Death of Don Juan เป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงละครเวทีเรื่อง The Death of Don Juan ของ Bluefields Playhouse เมื่อ Foster Benedict นักแสดงละครเวทีจากนิวยอร์กถูกเรียกตัวมารับบท ดอน ฮวน แทน Manson นักแสดงเดิมที่รับบทดังกล่าวแต่ตกบันไดบาดเจ็บก่อนการแสดงเพียงวันเดียว ถูกฆาตกรรมอยู่ในห้องแต่งตัว โดยมีมีดของ Roger Fowler เพื่อนของเอลเลอรี่ ควีนปักอยู่กลางหลัง หากคำสุดท้ายที่เขาเอ่ยออกมาก่อนตายจากปากคำของแพทย์ คือ Heroine ซึ่งทำให้ Joan Thurslow นางเอกของเรื่อง และเคยเป็นอดีตคนรักสมัยเรียนมัธยมของเบเนดิกท์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหมายเลขหนึ่งของตำรวจไปในทันที แต่เธอจะเป็นฆาตกรจริงหรือไม่...
The Wrightsville Heirs เป็นกรณีวุ่นวายภายในตระกูล Livingston แห่ง Wrightsville เมื่อสามพี่น้องได้กลายเป็นผู้รับมรดกก้อนใหญ่ แต่ลาภที่ได้รับกลับกลายเป็นภัยตามมา เมื่อ Amy หนึ่งในสามผู้รับมรดกกลายเป็นเป้าหมายการปองร้าย ใครเป็นคนทำ และทำไปเพื่ออะไร นี่คือสิ่งที่เอลเลอรี่ ควีนต้องหาคำตอบ
E=Murderer นายแพทย์ผู้หนึ่งถูกฆ่าตายภายในห้องของโรงแรม โดยทิ้งปริศนาก่อนตายเอาไว้ เป็นตัวอักษรที่เป็นได้ทั้ง E, W, M, 3 หรืออักษร Omega ของกรีกที่ยังเขียนไม่เสร็จ แล้วอักษรปริศนาที่ว่ามีความหมายว่าอย่างไร ในเมื่อมันไม่ตรงกับชื่อย่อของใครที่เกี่ยวข้องกับเขาเลย
Diamonds in Paradise เมื่อจารชนสาวในคดีขโมยเพชรถูกตำรวจนิวยอร์กจับ แต่ของกลางที่เป็นเพชรกลับหายไป เหลือเพียงคำพูดที่เป็นปริศนาของผู้เกี่ยวข้องก่อนตายว่า Diamonds in Paradise ที่ทำให้สารวัตรริชาร์ด ควีนมึนงงจนต้องขอคำปรึกษาจากเอลเลอรี่ ควีน ผู้เป็นลูกชาย
The Case Agianst Caroll ดูเหมือนว่าความโชคร้ายซ้ำซ้อนจะมาเยือนผู้ชายชื่อ John Carroll อย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน เพื่อนร่วมงานอย่าง Meredith Hunt ที่คิดว่าเขาไปมีความสัมพันธ์กับ Felicia ภรรยาสาวสวยของ Hunt เพราะ Helena ภรรยาของจอห์นป่วยหนักจนต้องนั่งรถเข็น และเช้าวันรุ่งขึ้นของคืนฝนตกหนักคืนหนึ่งซึ่ง Hunt มาหาเรื่อง Carroll ถึงที่พักก่อนจะกลับออกไป ส่วน Carroll ออกไปสงบสติอารมณ์นอกบ้าน Hunt ก็ถูกพบเป็นศพอยู่ในรถ ในขณะที่ Carroll ตกที่นั่งลำบาก เพราะในรถและอาวุธล้วนมีลายนิ้วมือของเขา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เขายังมีฐานที่อยู่ที่ยากจะบอกใครได้ คนที่จะสามารถช่วยพิสูจน์ว่า Carroll ไม่ได้เป็นฆาตกร และตามหาว่าใครเป็นฆาตกรตัวจริง เป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากเอลเลอรี่ ควีน
เรื่องของเอลเลอรี่ ควีนในเล่มนี้สนุกทุกเรื่องค่ะ โดยเฉพาะเรื่อง The Death of Don Juan ที่ให้เบาะแสชัดเจน แต่คนเขียนเล่นกับสถานการณ์ให้คนอ่านแอบมีเขว ๆ ไปหาคนนั้นที คนนั้นทีบ้าง แต่พอเฉลยแล้วก็ไม่พ้นจากคนที่สงสัยไปหรอก บทสรุปของเรื่องนี้น่ารักดีด้วยละ
จุดเด่นหนึ่งของนวนิยายชุดเอลเลอรี่ ควีนคือสำบัดสำนวนในการบรรยาย และการเล่นคำค่ะ เล่มนี้ก็ไม่พลาด ดังนั้น Queens Full จึงน่าจะเรื่องที่ทำให้คนที่คิดจะแปลทำใจลำบากหน่อย และอาจจะอยู่บนทางสามแพร่ง คือ Translate it, interpret it, or exaggerate it เพราะโอกาสในการตีความแล้วขยายความมาก ๆ ก็มีอยู่
หลาย ๆ เรื่องในชุดเอลเลอรี่ ควีนก็เป็น Puzzle ที่ไขปริศนาจากมุกภาษา ทำให้แปลยากขึ้นไปอีก ซึ่ง E=Murderer กับ Diamonds in Paradise เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากสำหรับกรณีนี้ โดยเฉพาะ Diamonds in Paradise อ่านจบแล้วรู้สึกว่า ถ้าเล่นแบบนี้ เอาเทพีเสรีภาพมาเขวี้ยงใส่กันดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมุกภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่เป็นมุกภาษาอังกฤษ แบบอเมริกันจ๋า เลยละค่ะ ^ ^"
QUEENS FULL เล่มนี้เป็นหนังสือที่ขโมยถ่ายเอกสารจากห้องสมุด สมัยเรียนอยู่บ้านนอก แล้วหิ้วกลับมา เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าจะหาอ่านกันได้ไหม เพราะเล่มนี้เก่ามากแล้ว ถ้ายังไง คงต้องรอรหัสคดีแปลออกมาแล้วละ
จากคุณ |
:
ปิยะรักษ์
|
เขียนเมื่อ |
:
13 ก.ย. 52 02:14:03
|
|
|
|
 |