 |
ความคิดเห็นที่ 84 |
|
^ (ชี้ไปที่ #82) จำได้ว่าอ่านเรื่องบนนี่ไม่จบค่ะ คงเพราะย้ำไปย้ำมานี่แหละ เลยเบื่อก่อน
10-10 [อั๊งอังอา] อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับหนังสือหรือนักเขียน
หนังกับหนังสือ ผู้แต่ง: วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ สำนักพิมพ์ Library, พิมพ์ครั้งแรก 2552, ราคา 280 บาท
หนังกับหนังสือ เป็นการฟื้นความหลังอีกทางหนึ่งที่บันทึกเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหนังสือที่นำไปเป็นภาพยนตร์ เป็นการช่วยรื้อฟื้นความทรงจำได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เขียนเปิดตัวหนังสือนวนิยายให้รู้จักผู้แต่งและเรื่องย่อต่อด้วยการทำเป็นภาพยนตร์ว่าใครเป็นคนสร้าง ดาราที่แสดงมีใครบ้าง
เป็นการบันทึกประวัติของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเพราะวีระยศเขียนแบบเก็บข้อมูลให้มากในเนื้อที่ที่มีอยู่น้อย อ่านแล้วได้เนื้อหาครบถ้วนชวนอ่านทั้งยังเป็นประโยชน์ใช้อ้างอิงได้ และที่สำคัญได้นำโปสเตอร์ที่หาดูได้ยากมาพิมพ์ไว้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้มีสีสัน น่าจับต้องและเก็บไว้เป็นที่ระลึก....
* * * * * * * *
เล่มนี้เป็นแนวให้ข้อมูลมากในพื้นที่น้อยจริงอย่างที่ว่าไว้บนปกหลังค่ะ หนังที่อยู่ในเล่ม ได้แก่ ชั่วฟ้าดินสลาย, บ้านทรายทอง, เขาชื่อกานต์, ระย้า, จัน ดารา, ผู้ชนะสิบทิศ, ภูติพิศวาส, นิจ, อกสามศอก, จำปูน, เล็บครุฑ, ทองปาน, อินทรีแดง, เหยี่ยวราตรี, เรือมนุษย์, สลักจิต, รักริษยา, จับตาย, แผลเก่า, นรกตะรูเตา, ลูกอีสาน, ชูชก กัณหา ชาลี, นกน้อย, ยาขอบทำหนัง, เพื่อน-แพง, ไร้เสน่หา, โชคสองชั้น, พระเจ้าช้างเผือก, บ้าน, ผีเสื้อและดอกไม้, อุดมเด็กดี, แผ่นดินของใคร?
แต่ละบท = หนังหนึ่งเรื่อง มีทั้งข้อมูลว่าหนังมาจากนิยายเรื่องไหนของใคร การสร้างมีความเป็นมาไหม (ถ้ามีให้เล่านะ) ข้อมูลในส่วนของหนัง..กี่เวอร์ชั่น ใครแสดง เวอร์ชั่นไหนดังหรือดับยังไง ฯลฯ และที่ชอบคือมีภาพโปสเตอร์หนังนำหน้าบทก่อน
ในส่วนของหนัง อ่านได้ลื่นและไม่สังเกตคำสะกดผิดเลย แต่ข้อมูลจะถูกต้องหรือครบถ้วนประการใดนี่ก็เหลือที่จะบอกได้ เพราะไม่ใช่คอหนัง
ในส่วนของหนังสือ ก็ถูกต้องดี แต่เท่าที่อ่าน รู้สึกว่าผู้เขียนใช้สำนวนยาวๆ แบบเก่าปนกับการใช้รูปประโยคแบบฝรั่งไปพร้อมกัน ผลคือออกมาไม่เนียน และ..ไม่รู้ว่าเพราะไม่ได้เช็คหรือเรียงพิมพ์ผิดพลาด...งานออกมาไม่ดีเลยค่ะ
ตรงนี้เป็นจุดที่ "ขัดใจ" หลายครั้ง เพราะสำนวนคนเขียนเขียนยาวเป็นย่อหน้า ด้วยรูปประโยคซ้อนหลายชั้น โยงด้วย "ที่" "ซึ่ง" "โดย" แถมบางทียังขยายความคำอีก (เช่น นาย xxx ผู้ dddd ผู้ zzz ...) ... แล้วบ่อยครั้ง ที่สำนวนเหมือนยังไม่เกลา อ่านไม่ลื่น แถมที่ร้ายที่สุด คือตกหล่นโน่นนี่ พิมพ์สะกดผิด ช่องไฟเว้นบ้างไม่เว้นบ้าง บางย่อหน้าถึงกับหาคำกริยาไม่เจอ!
โดยรวม เล่มนี้มีแนวคิดและเนื้อหาน่าสนใจ การใส่โปสเตอร์ช่วยเพิ่มแรงดึงดูดให้อยากซื้อ โชคร้ายจริงๆ ที่ไปสุ่มอ่านเจอหน้าที่รู้เรื่องแค่สองสามหน้า ไม่งั้นไม่ซื้อจริงๆ นะ เพราะเราคิดว่า 280 บาทนี่แพงไปสำหรับหนังสือที่ต้องมานั่งเกลาหรือแปลอีกทีในหัวน่ะค่ะ T^T
----
หลังจากนี้ไป เป็นตัวอย่างที่ "ขัดใจ" ในเล่ม ใครขี้เกียจดูก็ข้ามไปได้เลยค่ะ
คำสะกดผิด เช่น ประนาม, หน้าเศร้า (ที่ถูกคือ "น่าเศร้า"), อารมรณ์, อาระวาด, การด่าทอแทะคารม, ตัญหา, เนรมิตร
คำที่เราคิดว่าขาดๆ เกินๆ เช่น เขาเป็นชาติอาชาไนย (ควรเป็น ชายชาติอาชาไนย), หญิงสาวเลือดฝาดแข็งแกร่ง, เรื่องที่ถูกขับเน้นหนักไปในแง่มุมเรื่องความรักเน่าเชียวชายสูงศักดิ์หญิงต่ำต้อย, เพื่อเป็นการประท้วงและประท้วง, นักเขียนแนวอุดมคติการประพันธ์เพื่อสังคม (แนวไรฟะ?), บนจอกว้างของหนังของหนัง, นอกจากปวงบรรดาผู้ร้าย, เด็กสาวหัวดีจากต่างด้าวตัวดี, นักเขียนระดับเวิลด์คลาสไม่กี่คนในไม่เยอะที่บ้านเรามีอยู่
หรือการเขียนยาวเป็นวา..ที่อ่านแล้วงงสิ้นดี เช่น
(หน้า 51) มีเพียงฉากการขายข้าวไม่กี่นาทีที่พอจะเห็นความสามารถของเพิ่มพลที่เอาชนะนายทุนในการเสนอภาพการตัดตวงผลประโยชน์ของผู้ผลิตซึ่งตกเป็นรองของนายทุนหน้าเลือดได้เท่านั้น ซึ่งถ้ามองในด้านหนึ่งมันก็เป็นสิ่งเพียงพอแล้วของการทำงานด้านศิลปะ ซึ่งน้อยนักจะมีศิลปินหรือนักทำศิลปะที่จะกล่าวได้อย่างมากมายในหนังแนวตลาดของตนเองไม่ว่ายุคสมัยก็ใดก็ตาม แต่ก็นับเป็นโชคดีของระย้าอยู่บ้าง เพราะเพิ่มพล เชยอรุณ เป็นผู้กำกับที่... ^ ^ ย่อหน้าบนนี่ นอกจากสะกดผิดแล้ว ยังใช้คำว่า "ซึ่ง" พร่ำเพรื่อ ตัดช่องไฟไม่ดี ทำให้อ่านไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ... เราจะพบย่อหน้าแบบนี้อีกหลายแห่งในเล่ม มีทั้งที่พอเดาได้ (ต้องตัดคำพร่ำเพรื่อหรือเว้นช่องไฟเองในหัว) หรือที่งงๆ แล้วช่างมันเหอะ
(หน้า 71) การจะมองหานักเขียนบทประพันธ์, นักการละคร, นักเขียนบทภาพยนตร์ จากยุคบุกเบิกสมัยละครเวทีเป็นที่นิยมมากจนเข้ายุคภาพยนตร์ในยุค 16 และ 35 มม. จนมาถึงยุคละครโทรทัศน์ยอดนิยมตราบจนปัจจุบัน ^ ^ ทั้งย่อหน้ามีแค่นี้ คำกริยาอยู่ไหนเอ่ย?
(หน้า 212) หลังจากภาพยนตร์ไทยเป็นที่นิยมจากคนดูมากขึ้น เสียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ที่มี... ขยายความยาว 6 บรรทัด... ) ซึ่งเคยสร้างหนังมาแล้วเรื่องหนึ่งชื่อ แม่ศรีเรือน (2497) จากบทประพันธ์ของ พ.เนตรรังษี และต้องการที่จะสร้างหนังต่ออีกเรื่อง โดยอาศัยโรงถ่ายภายใต้ท้องฟ้า ซึ่งมีฉากจริง ๆ ตามธรรมชาติเป็นสถานที่ถ่ายทำตามความนิยมของผู้สร้างหนังในยุคนั้นที่ต้องการประหยัดทุนรอน แต่เลียง ต้องการฉากที่แปลกตาออกไปจึงคิดที่จะถ่ายทำหนังใหม่ของเขาที่เขมร จากความคิดนั้นเขาจึงมาปรึกษายาขอบ ในฐานะที่เคยเป็นผู้ทำงานในหน้าที่เขียนคำเจรจาในบทภาพยนตร์ให้แก่... ^ ^ อีกย่อหน้า/หรือเกือบเต็มหน้า ที่หากริยาไม่เจอ
แก้ไขเมื่อ 20 ก.ย. 52 01:19:45
จากคุณ |
:
ยาคูลท์
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ก.ย. 52 01:13:49
|
|
|
|
 |