ฤพเนฤ
นิตยสาร Filmax

in America

 

Argo
กำกับ: เบน เเอฟเฟล็ค
นักแสดง: เบน เเอฟเฟล็ค, ไบรอัน แครนส์ตัน, จอห์น กู๊ดแมน

เบน เเอฟเฟล็ค เป็นหนึ่งในนักแสดงที่หันมาเอาดีหลังกล้องในฐานะผู้กำกับ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ดีเกินคาด นับตั้งแต่ผลงานเปิดตัว Gone Baby Gone มาจนถึงหนังจารกรรม The Town และเรื่องล่าสุดที่หยิบเอาเหตุการณ์จริงในปี 1979 มาถ่ายทอดเป็น Argo หนังดราม่าทริลเลอร์หวังรางวัลในปีนี้

“เป็นบทหนังชั้นดีที่หล่นจากฟ้ามาอยู่บนตักผมเลยล่ะ” เเอฟเฟล็คพูดถึงบทของ คริส เทอร์ริโอ ที่ทำให้เขาสนใจมากจนต้องรีบโทรหา จอร์จ คลูนีย์ และ แกรนต์  เฮสโลฟ ให้มาโปรดิวซ์หนังเรื่องนี้ให้ “คุณเชื่อมั้ยว่าเรื่องพวกนี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง”

เรื่องราวที่เเอฟเฟล็คพูดถึงคือเหตุการณ์ผู้ประท้วงอิสลามบุกสถานทูต อเมริกาในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านเมื่อพฤศจิกายนปี 1979 แล้วจับตัวประกันชาวอเมริกันไป 52 คนเป็นเวลายาวนานถึง 444 วัน แต่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับสุดยอดอีกชุดหนึ่งเมื่อปี 1996 ว่าในวันที่สถานทูตถูกล้อมนั้น มีอีก 6 คนสามารถหลบหนีไปอยู่ที่สถานทูตแคนาดาได้สำเร็จ หลังจากกบดานอยู่ราวสามเดือนก็ได้รับการช่วยเหลือจาก แอนโตนิโอ เจ. เมนเดส ผู้เชี่ยวชาญของซีไอเอด้วยวิธีที่พิลึกพิลั่น นั่นคือการเข้าไปในเตหะรานในฐานะโปรดิวเซอร์หนังชาวแคนาดา ทำทีเป็นหาสถานที่ถ่ายหนังวิทยาศาสตร์ทุนต่ำชื่อ Argo เมนเดสจึงสามารถลักลอบพาผู้ลี้ภัยทั้งหกออกมาได้โดยแฝงตัวเป็นทีมงานในกองถ่าย

ด้วยเรื่องราวจริงที่ยิ่งกว่านิยาย เหตุผลที่แอฟเฟล็คอยากทำเรื่องนี้มากไม่ใช่เพราะเรื่องมันดูเหนือจริงอย่างเดียว แต่เพราะเขาสนใจตะวันออกกลางมานานแล้ว “ผมเรียนเอกตะวันออกกลางศึกษาที่วิทยาลัย และผมก็สนใจติดตามเรื่องราวในแถบนั้นมาตลอด ผมเคยเขียนงานเกี่ยวกับการปฏิวัติในอิหร่านด้วย ถึงงานจะห่วยไปหน่อยก็เถอะ (หัวเราะ) ผมอาจพูดไม่เต็มปากว่ามีความรู้เรื่องนี้มากเพราะผมเรียนไม่จบ แต่คุณก็รู้ว่าไม่บ่อยนักหรอกที่เราจะได้ทำหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้”

จอห์น ฟอร์ด พูดไว้ว่า ‘90 เปอร์เซ็นต์ของงานกำกับคือการคัดเลือกนักแสดง’ และมันก็เห็นได้ชัดเจนจากหนังเรื่องนี้” เเอฟเฟล็คกล่าวถึงนักแสดงที่เขาเลือกเฟ้นมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น อลัน อาร์กิ้น ในบทอดีตโปรดิวเซอร์มือทองของฮอลลีวูด และ จอห์น กู๊ดแมน ในบทช่างแต่งหน้า “จอห์น กู๊ดแมนและอลัน อาร์กิ้นสามารถเสียดสีฮอลลีวูด และรักษาความสมจริงไปพร้อม ๆ กับความสนุกได้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่จำเป็นต่อหนังเพราะมันมีหลาย ๆ องค์ประกอบอยู่ในเรื่องเดียวกัน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับซีไอเอ เรื่องชวนหัวของฮอลลีวูด และเรื่องการเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงหนังส่วนต่าง ๆ ให้กลมกลืนกัน ไม่ให้รู้สึกเหมือนเอาหนังสั้นมาต่อ ๆ กัน กรณีนี้จึงต้องฝากความหวังไว้ที่นักแสดงมากทีเดียว”

ด้านสองนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ถูกกล่าวถึงก็แสดงความชื่นชมเเอฟเฟล็คในบทบาทผู้กำกับเช่นกัน อลัน อาร์กิ้นบอกว่า “ผมรู้จักเบนในฐานะนักแสดงและผมชอบการแสดงของเขามาก แต่พอได้ดูหนังที่เขากำกับแล้วผมก็ยิ่งประทับใจเอามาก ๆ ถือเป็นงานของผู้กำกับชั้นหนึ่งเลย” ส่วนจอห์น กู๊ดแมนเสริมว่า “เบนเป็นคนที่รู้จักตัวเอง เขาแสดงดีจนคนดูคงแทบลืมไปเลยว่าเขาควบงานกำกับด้วย”

และด้วยเนื้อเรื่องที่ถูกใจนักหนา เเอฟเฟล็คจึงเหมาบท โทนี่ แมนเดส เจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้กล้ามาเล่นเองเสียเลย “ผมได้เจอโทนี่ แมนเดสตัวจริงและตอนนั้นเขาอายุ 39 เท่าผมตอนนี้เลย ทำให้ผมอยากกำกับและเล่นบทนี้ด้วยจริง ๆ และมันไม่ยากเลยเพราะแทบไม่มีปัญหาเรื่องนักแสดง”

สำหรับฉากใหญ่ของเรื่องอันได้แก่ฉากชุลมุนหน้าสถานทูตที่เตหะรานนั้น เเอฟเฟล็คเลือกไปถ่ายทำที่อิสตัลบูลแทนสถานที่จริงเนื่องจากอิสตันบูลต้อนรับชาวตะวันตกมากกว่า แถมยังได้ไฟเขียวจากซีไอเอให้ไปถ่ายทำที่สำนักงานใหญ่ที่เมืองแลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนียได้สะดวกโยธิน แต่ส่วนที่ยากลำบากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องโลเกชั่นในตะวันออกกลาง แต่เป็นการแปลงโฉมนักแสดงให้อยู่ในยุค 70 ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นหนวดดกหนาและเสื้อผ้าเนิร์ด ๆ แม้แต่เอฟเฟล็คยังต้องตัดผมหน้าม้าหนาเตอะและไว้เครารกครึ้ม

“คนเป็นหัวหน้าต้องก้าวออกมาก่อนคนอื่น ๆ ครับ ถ้าผมอยากให้คนอื่นตัดผมทรงตลก ๆ ยุค 70 ก็ต้องตัดเองเป็นคนแรก มันก็ดูชิคดีอยู่หรอกนะ แต่ตอนนี้ผมอยากตัดทิ้งแทบไม่ไหวแล้ว” เเอฟเฟล็คหัวเราะทิ้งท้าย



:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::