 |
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000076906
อุตส่าห์ขับรถฝ่าเปลวแดดเปรี้ยงตอนช่วงบ่ายๆ บุกเข้าไปตามสวนผักแถบชานเมืองย่านพุทธมณฑลสาย 3 เพื่อจะไปลิ้มลองอาหารไทยๆ ที่เพื่อนบอกมาว่าอร่อย แม้เส้นทางจะลึกลับซับซ้อนสักหน่อย แต่พอถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยเก่าๆ 2 หลัง ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อยที่ให้ความร่มครึ้ม หน้าบ้านติดป้ายร้าน บ้านยี่สาร เห็นเท่านี้ก็พอคุ้มค่ากับที่ดั้นด้นเข้ามาลิ้มลองอาหารที่มีพื้นเพมาจากแม่กลองแล้ว ที่ตั้งชื่อร้านว่า บ้านยี่สาร นั้น คุณตุ๊กตา-สุพัตรา สารสิทธิ์ บอกว่า เดิมบรรพบุรุษเป็นคนตำบลยี่สาร อ.อำพวา จ.สมุทรสงคราม ส่วนบ้านทรงไทย 2 หลังที่นำมาทำเป็นทั้งบ้านอาศัยและร้านอาหารนั้น แต่เดิมปลูกอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วล่องแม่น้ำมาปลูกที่บ้านยี่สาร เมื่อได้รับเป็นมรดกตกทอด จึงย้ายมาปลูกที่แห่งนี้เมื่อ 5-6 ปีก่อน เห็นบ้านทรงไทยเก่าๆ แบบนี้ ให้ลองทายอายุดูคงเดาไม่ถูก คุณตุ๊กตาบอกว่า บ้านหลังใหญ่อายุเกือบ 200 ปีแล้ว ส่วนหลังเล็กด้านหน้าก็ร้อยกว่าปีเหมือนกัน ดูได้จากไม้กระดานแผ่นใหญ่และยาว หรือเสาต้นยาวเกือบ 10 เมตร ที่ปัจจุบันคงหาไม่ได้อีกแล้ว มนต์ขลังของบ้านทรงไทยที่ทั้งสวยและหาชมได้ยากนั้นกลายเป็นจุดขายที่คู่รักหลายคู่จูงมือกันมาจัดงานวิวาห์ที่บ้านทรงไทยแห่งนี้
ร้านอาหารแห่งนี้ ไม่ได้มีดีเพียงบ้านทรงไทยหลังเก่าแก่ที่หายากเท่านั้น แต่เรื่องรสมืออาหารแล้วก็ไม่เป็นรองใครเช่นกัน เพราะคุณแม่ของคุณตุ๊กตา เป็นถึงประธานชมรมอาหารไทยพื้นบ้านจังหวัดสมุทรสงคราม ที่เก่งทั้งอาหารไทยคาว-หวาน ดังนั้น เมนูของที่ร้านนี้จึงเป็นอาหารบ้านๆ ของคนไทยแถบอัมพวา ที่อุดมไปด้วยอาหารทะเลที่เจ้าของร้านภูมิใจนำเสนอ และแม้จะย้ายรกรากมาอยู่ที่นครปฐมแล้วก็ตาม แต่วัตถุดิบทุกอย่างจะต้องกลับไปซื้อกันที่บ้านยี่สารแบบวันเว้นวันเพื่อให้ได้ของแท้กัน น้ำพริกกะปิ-ผักชะคราม (80 บาท) ฟังชื่อ ผักชะคราม แล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนกรุงเทพฯ เท่าไหร่ เพราะเป็นผักพื้นบ้านของแหล่งที่ทำนากุ้ง เป็นผักสมุนไพรที่ให้ธาตุเหล็กสูง รสชาติออกเค็ม เพราะซึ่งขึ้นอยู่ตามคันนากุ้งในน้ำกร่อย เวลานำมาทำอาหารต้องมีวิธีการทำให้ลดความเค็ม ขณะเดียวกันก็จ้องรักษาความสดเขียวเอาไว้จึงจะน่ากิน อย่างใบชะครามที่นำมาจิ้มน้ำพริกถ้วยนี้ ลวกให้สุกพอดีจะได้ความเขียวสด คนชอบกินผักนั้นเห็นแค่นี้ก็อยากลิ้มลองแล้ว แถมยังเพิ่มความละเมียดด้วยการจับใบชะครามเป็นคำๆ ราดด้วยหัวกระทิ เรียงเป็นแถวเต็มจาน ให้นึกถึงผู้เขียนตอนเด็กๆ เวลาแม่ตำน้ำพริกก็จะลวกผักสดแล้วให้พวกลูกๆ ช่วยกันม้วนผักให้เป็นคำๆ แล้วราดด้วยหัวกระทิเพื่อเพิ่มความมันและนารับประทานมากขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยเห็นในปัจจุบันแล้ว ส่วนน้ำพริกก็ต้องใช้กะปิจากแม่กลอง ตำแบบบ้านๆใส่ทั้งพริกขี้หนูสด มะเขือพวงและเนื้อมะอึกลงไป ปรุงให้ได้ 3 รส จิ้มด้วยผักชะครามที่มีรสเค็มติดปลายลิ้น แต่ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวเลย กินกับข้าวสวยร้อนๆ ได้อร่อยนักแล หรือจะสั่งปลาทูทอดกับผักอื่น ๆมาแนมด้วยก็ได้ ความจริงใบชะครามสามารถนำมาปรุงอาหารได้สารพัดอย่าง เช่น ทำห่อหมก แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย หรือจะลวกแล้วนำไปยำก็อร่อยไม่แพ้กัน ปลาหมอเทศแดดเดียว (80บาท/5 ชิ้น) ที่ร้านี้ใช้ปลาหมอเทศที่เลี้ยงในวังกุ้งซึ่งอยู่ตามธรรมชาติ เพราะกินกุ้งตัวเล็กๆ ตามนากุ้งเป็นอาหาร ไม่ใช่ปลาหมอเทศที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด จึงได้เนื้อที่หวานตามธรรมชาติ นำมาแล่เอาแต่เนื้อชิ้น ๆ ขยำกับน้ำปลาอย่างดีตากแดดเดียวประมาณ 45 นาที ให้ผิวนอกของเนื้อปลาพอตึงแดด ส่วนเนื้อในยังฉ่ำอยู่ นำมาทอดน้ำมันให้เหลืองกรอบ กัดกินคำแรกจะได้รสชาติหวานของเนื้อปลาและเค็มปะแล่ม พร้อมความหอมของน้ำปลาแทรกมาด้วย
ปลาทูซาเตี้ยะ ของขึ้นชื่อของสมุทรสงครามเห็นจะเป็น ปลาทูโป๊ะ ของแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เป็นสุดยอดปลาทูที่รสชาติอร่อยล้ำของแท้ต้อง หน้างอ คอหัก ส่วนเมนูปลาทู 3เตี๊ยะก็คือ ปลาทูต้มเค็มของคนกรุงเทพฯ นั่นเอง ซึ่งสูตรต้มเค็มนั้นจะใช้รากผักชี กระเทียม พริกไทย หัวหอมแดง พริกขี้หนู ซีอิ๊ว น้ำตาลมะพร้าว และอื่นๆ ตามแต่ละบ้านจะมีเคล็ดลับ เมนูนี้คุณตุ๊กตาจะตุ๋นจนกระดูกเปื่อยแต่เนื้อไม่เละ เรียกว่ากินได้ตั้งแต่เนื้อถึงกระดูก ราดบนข้าวสวยร้อนๆ มีพริก หัวหอมแดงซอยเติมลงไป ช่วยให้เนื้อปลาทูทั้งหวานสดหอมเครื่องปรุงมากๆ หมึกกะปิพริกไทยดำ (150 บาท) ใช้หมึกกล้วยคัดพิเศษตัวโตนำมาหั่นขวางลำตัว จะได้เนื้อปลาหมึกเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ ผัดกับกะปิ พริกไทยดำ น้ำมันหอยและต้นหอม ผัดแบบจีนผสมไทย เนื้อหมึกเวลาที่สุกแล้วจะพองขาวเต็มจานน่ากินมาก จานนี้อ่อนกะปิไปหน่อย ซึ่งคุณตุ๊กตาบอกว่าเพราะคนกรุงเทพฯ ไม่ชอบกลิ่นกะปิแรง จะต้องลดลงไปบ้าง ดังนั้นถ้าต้องการกลิ่นฉุนกว่านี้จะต้องสั่งกำชับไปด้วย แกงส้มมะรุมกุ้ง (120 บาท) ช่วงหลังๆ มะรุมถือเป็นสมุนไพรยอดฮิตด้วยสรรพคุณที่ช่วยรักษาและป้องกันได้สารพัดโรค ภูมิปัญญาของคนโบราณรู้ถึงคุณค่ามะรุมมานานแล้ว จึงนำมาทำเป็นอาหารเพื่อให้รับประทานได้บ่อยๆ อย่างแกงส้มมะรุมถ้วยนี้ใช้พริกแกงส้มตำเอง จึงได้กลิ่นความหอมของเครื่องสมุนไพรสดรวมทั้งพริกแห้ง ซึ่งให้สีส้มสดของน้ำแกงซึ่งน่ารับประทานมาก ส่วนรสชาตินั้นแซบสามรสคือ เปรี้ยว-เผ็ด-หวาน ยิ่งได้ไข่เจียวร้อน ๆ มาสักจานหนึ่งรับรองว่าข้าวเกลี้ยงจานแน่ ๆ เมนูอาหารไทยพื้นบ้านของร้านนี้ยังมีให้เลือกอร่อยอีกมากมาย จาระไนไม่หมด จากนั้นก็ควรจะล้างปากด้วยขนมหวานประเภทผลไม้ตรมฤดูกาลนำมาลอยแก้วให้มีรสเปรี้ยวอมหวานใส่น้ำแข็งทุบให้เย็น ๆ อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องสั่งคือไอศกรีมสตอเบอรี่ซึ่งเป็นแบบเชอเบทที่ไม่ใส่นมและครีม เป็นไอศกรีมโฮมเมดของแท้เพราะเจ้าของร้านจะปั่นเองจะได้รสหอมอร่อยดี อิ่มจากอาหารแล้วก็อย่าลืมเดินชมรอบๆ ร้านอาหารด้วย เพราะนอกจากบ้านทรงไทยโบราณแล้ว ยังมีร่องนคูคลองเล็ก ๆ อยู่ 2 ฟากของบ้าน มีจอกแหนขึ้นเขียวขจีอันเป็นอาหารอย่างดีของเป็ดและห่านสีขาวที่จะวนเวียนว่ายน้ำเล่นเย็นใจให้ดูเพลินๆ รวมถึงต้นไม้ใบหญ้าของไทยที่ปลูกรอบ ๆ บ้าน คุณตุ๊กตาบอกว่าค่ำๆ ยังพอมีหิ่งห้อยเกาะอยู่ตามใต้ต้นไม้ให้ดูเล่นๆ อีกด้วย เส้นทางการไปร้านนี้ ควรเริ่มต้นที่ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรีมุ่งหน้าออกไปนครปฐม พอถึงแยกที่เขียนว่า พุทธมณฑลสาย 3 ให้เลยไปหาทางยูเทิร์นกลับรถเพื่อจะไปอีกฟากหนึ่งของพุทธมณฑลสาย 3 ขับตรงไปถนนศาลาธรรมสพน์ที่ 25 ซึ่งจะเป็นซอยเล็กๆ ขับไปตามถนนไม่เกิน 1 กิโลเมตรจะพบซอยตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านนี้ หรือถ้าไปไม่ถูกให้ โทร.ไปถามทางที่ 08-5162-3901, 08-5019-5512 **ข้อมูล** ร้านบ้านยี่สาร ประเภท อาหารไทยพื้นบ้านจากชุมชนยี่สาร อำเภออัมพวา ที่อยู่ 16-19 ถนนศาลาธรรมสพน์ ซอยธรรมสพน์ 25 เขตทวีวัฒนา โทร.08-5162-3901, 08-5019-5512 เปิดบริการ 11.00 22.00 น. ทุกวัน
จากคุณ |
:
mr_spurs
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ธ.ค. 55 01:52:25
|
|
|
|
 |