ต้นปี 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับช่วงเวลา
ที่ยากที่สุด เหนื่อยหนัก แบบสุดๆ จากมหาอุทกภัยใหญ่ที่อุบัติขึ้นในช่วง
ปลายปี2554 น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้กวาดทำลาย
เศรษฐกิจไทยเสียหายกว่า 1 ล้านล้านบาท
ท่ามกลางวิกฤตศรัทธา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเดินสาย ชี้แจง การช่วยเหลือ
ฟื้นฟู และวางมาตรการป้องกันน้ำท่วม เพื่อเรียกความมั่นใจจากนักลงทุน
ไทยและต่างประเทศ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู
และสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวาง
ระบบบริหารจัดการน้ำ(กยน.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว
ที่สำคัญรัฐบาลได้ออก พระราชกำหนด กู้เงิน 3.5แสนล้าน และ
พระราชกำหนด โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.4 ล้านล้าน โดยหวังจะ
เอาเงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว
ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านโดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
2พระราชกำหนด ขัดรัฐธรรมนูญ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่า ไม่ขัด
รัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้
จากต้นปีถึงกลางปี ภาพของนายกฯ ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องทุกวัน และไม่
เผชิญหน้าทางการเมือง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นจากมาตรการ
กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งที่ต้องเผชิญกับการกอบกู้ภาคการผลิต
หลังน้ำท่วมใหญ่และวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป
ภาพลักษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสายตานักธุรกิจจึงดีขึ้น ภาคธุรกิจเริ่มมี
ความเชื่อมั่นและปรับมุมมองที่มีต่อ นายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นบวก
ช่วงกลางปี น.ส. ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อ
ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ คณะรัฐมนตรี ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
เข้าสู่สภา เพื่อให้มีการ ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ แทน
รัฐธรรมนูญปี 2550
มรสุมการเมืองครั้งนี้ เกือบทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบจุดจบ
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มเสื้อหลากสี ผนึกกำลังกัน
คัดค้านอย่างหนัก โดยกล่าวหาว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ
ล้างความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จากนั้นฝ่ายคัดค้านได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้าง
การปกครองประชาธิปไตย แม้ที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่า การแก้ไข
รัฐธรรมนูญ มตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง
แต่ปมที่กลายเป็นปัญหาต่อมาคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอให้การแก้ไข
รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน
ถัดมาไม่นาน ได้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ เมื่อ ร่างพระราชบัญญัติปรองดอง
ได้เข้าสู่สภาฯ แรงต้านจากในสภาและนอกสภารุนแรง จนเกิดความวุ่นวาย
ในสภา แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ผ่านวิกฤตการณ์การเมือง ครั้งสำคัญมาได้
ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับ มรสุมระลอกใหญ่ ทางการเมือง อีกครั้งในช่วงปลายปี
ทั้งจากในสภาและนอกสภาที่เดินหน้าขับไล่อย่างเป็นขบวนการ โดยการนำของ
"เสธ. อ้าย"พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยามที่
ประกาศแช่แข็งประเทศไทย
แต่สุดท้ายมวลชนที่เข้าร่วมน้อยกว่าที่ประกาศไว้มาก ทำให้"เสธ.อ้าย"ต้อง
สลายการชุมนุมในที่สุด และประกาศวางมือ จาก ประธาน องค์การพิทักษ์สยาม
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจถล่ม น.ส.ยิ่งลักษณ์
เพราะรู้ว่า"จุดอ่อน"ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ การตอบโต้ทางการเมือง โดย
พรรคประชาธิปัตย์ใช้เวลาการอภิปราย น.ส. ยิ่งลักษณ์ นานถึง 3 วัน แต่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็สามารถผ่านมรสุมดังกล่าวได้ โดยไม่บอบช้ำมากนัก
ปี 2555 เป็นอีกปีหนึ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่าง
หนักใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การเป็นหุ่นเชิดของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
หรือ "ก้าวไม่พ้นพี่ชาย" แต่คำกล่าวหาดังกล่าวค่อยๆลดน้ำหนักลงเมื่อมีการปรับ
คณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เพราะไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ พันตำรวจโททักษิณ
ทั้งหมด หลายตำแหน่งในรัฐบาลเป็นการตัดสินใจเลือกของน.ส.ยิ่งลักษณ์เอง
บทบาทของพันตำรวจโททักษิณในรัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่"น้ำหนัก"ของ
การตัดสินใจเริ่มมีการสร้างสมดุลใหม่ ไม่แปลกที่จังหวะก้าวทางการเมืองของ
รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงแตกต่างจากสมัยรัฐบาลทักษิณ เพราะมีลักษณะประนี
ประนอมมากกว่าการแตกหัก
เรื่องที่สอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมโซเชียลมีเดีย ในเรื่อง
การใช้คำพูดผิดพลาดในหลายเวทีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็น
เรื่องตลกขบขันในช่วงแรกๆ แต่ยิ่งนานวันกระแสดังกล่าวเริ่มลดลง
ปี 2555 ที่ผ่านไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงถูกสื่อกระแสหลักบางกลุ่มและสังคม
โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นของ
ประชาชนเกือบทุกสำนัก ปรากฏว่าคะแนนความนิยมในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์
เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ
จากเรื่องราวทั้งหมด "มติชนออนไลน์"จึงขอมอบตำแหน่ง"ที่สุดแห่งปี 2555"
ให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356953000&grpid=&catid=01&subcatid=0100
กระทู้ขอ give เพื่อนๆ ใครมีเหลือขอด้วย