ไขข้อสงสัย "มะเร็ง" กับแพทย์โนเบล "ฮาโรลด์ ซูร์ เฮาเซ่น"
|
|
29 พ.ย. 2555 เวลา 12:08:32 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"โรคมะเร็ง" มัจจุราชเงียบที่แฝงกายอยู่ในวิถีชีวิตอันบิดเบี้ยวของคนยุคปัจจุบันแบบไม่เลือกหน้าหรือฐานะใด ๆ ได้คร่าชีวิตพลเมืองโลกเกือบ 10 ล้านคนต่อปี แม้แต่ขึ้นแท่นเป็นโรคร้ายอันดับ 1 ที่พรากชีวิตคนไทยสูงสุด
ท่ามกลางความหดหู่ ยังพอมีหวัง หนึ่งในผู้ที่แผ้วถางทางวงการวิจัย เพื่อมุ่งมั่นเอาชนะเรื่องโรคมะเร็ง คือ "ศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาโรลด์ ซูร์ เฮาเซ่น" แพทย์ชาวเยอรมัน เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2548 และดีกรีนักวิทยาศาสตร์โนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบสาเหตุมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสหูด หรือ "เอชพีวี" จนตกผลึกพัฒนามาเป็น "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" ต่อต้านโรคร้ายที่กำลังคุกคามชีวิตผู้หญิงทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ถือเป็นโอกาสอันดี เมื่อคนดังระดับโลกเดินทางมาบรรยายพิเศษที่เมืองไทย ในงานประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา พร้อมเปิดโอกาสให้ "ทีมข่าวประชาชาติธุรกิจ" ล้อมวงสนทนาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งอย่างเป็นกันเอง
ดร.เฮาเซ่นเริ่มต้นฉายภาพสถานการณ์มะเร็งจากทั่วโลก พบว่าอัตราผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตก ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตกลับมีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งทำได้ดีขึ้น ช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยให้มีชีวิตยาวขึ้น แต่ในฐานะนักวิจัยยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่อง "การป้องกันมะเร็ง" เป็นอันดับแรก
หลังจากประสบความสำเร็จที่ค้นพบ "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" จนคว้ารางวัลโนเบลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีผลช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกจากทั่วโลกได้ถึง 70% แต่วัคซีนที่มีอยู่สามารถป้องกันไวรัสได้เพียง 2 ชนิดเท่านั้น ดังนั้น ภารกิจต่อไป คือการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพต่อต้านไวรัสชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม
"ตอนนี้ทีมวิจัยของผม เริ่มค้นพบวัคซีนที่สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงการรักษาในช่วงติดเชื้อไวรัสในระยะแรกเท่านั้น หากอยู่ในขั้นร้ายแรงแล้ว ก็ยังไม่ค้นพบการรักษาในขณะนี้"
แม้ขึ้นชื่อว่าเป็น "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก" แต่ผู้ชายก็อย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีปากมดลูกเหมือนผู้หญิง ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ ในทางกลับกัน กลุ่ม "ผู้ชายคือกลุ่มเสี่ยง" ได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี ยิ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้ให้ทันการณ์ ก่อนจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่คนอื่น ๆ
แพทย์โนเบลแนะ "ผู้ชายควรต้องได้รับวัคซีนในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถ้ายิ่งช้าก็ยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อผู้ชายได้รับเชื้อแล้ว จะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น สิ่งที่น่ากลัวคือจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อ และไวรัสชนิดนี้มีสิทธิ์ก่อให้เกิดมะเร็งทวารหนัก มะเร็งต่อมทอนซิล และมะเร็งที่อวัยวะเพศชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นรักร่วมเพศ และมีเพศสัมพันธ์บ่อย"
พร้อมอยากขีดเส้นใต้ตัวหนา ๆ เน้นย้ำให้รีบฉีดวัคซีนตั้งแต่ในวัยเด็ก อายุระหว่าง 9-14 ปี หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะถ้าติดเชื้อไวรัสเอชพีวีแล้ว วัคซีนตัวนี้ก็เอาไม่อยู่เช่นกัน อีกทั้งอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง อย่ากลัวหรือเขินอายที่จะไปหาหมอตรวจภายใน เพื่อหาเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูก หากรู้ตัวสายเกินไป ก็ยากจะแก้ไขทันเวลา
สำหรับ "คนกินเนื้อ" อาจต้องตื่นตระหนก เมื่อนายแพทย์เฮาเซ่นเผยกำลังพบเบาะแสเชื่อมโยงว่า "การทานเนื้อวัว" เป็นประจำ ยิ่งเป็นแบบเนื้อแดง ๆ กึ่งสุกกึ่งดิบ ยิ่งเสี่ยงเป็น "มะเร็งลำไส้ใหญ่"
"มีสมมติฐานที่น่าสนใจว่า พบไวรัสในเนื้อวัว มีผลก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในมนุษย์ได้ สอดคล้องกับสถิติพบว่า พื้นที่ไหนไม่นิยมทานเนื้อวัว อย่างในประเทศอินเดีย จะมีอัตราเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในขั้นกำลังศึกษาอยู่"
อีกหนึ่งข้อสังเกตจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มอายุลงน้อยเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ชักนำโรคภัยมาเยือนง่ายขึ้นแล้ว โดยโรคมะเร็งในเด็กที่พบมากสุด คือมะเร็งสมอง กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย)
"กรณีลูคีเมียในเด็กที่ผมกำลังศึกษาอยู่ พบข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า เด็กที่เกิดมาในครอบครัวฐานะดี หรือเป็นเด็กไฮโซ รวมถึงลูกคนเดียว มีสิทธิ์เป็นลูคีเมียมากกว่าลูกชาวบ้านธรรมดา หรือเด็กที่มีพี่น้องหลายคน เพราะถ้าเลี้ยงดูอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ประคบประหงมดีเลิศเกินเหตุ ทำให้ไม่ได้รับเชื้อไวรัสมาก หรือไม่ค่อยเป็นหวัด ตรงข้ามกับเด็กที่วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ อยู่กลางดินกลางทราย ย่อมมีโอกาสรับปริมาณไวรัสมากกว่า เป็นหวัดง่าย แต่ข้อดี คือร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าลูกไฮโซ"
ส่วนประเด็นที่เคยมีคนกล่าวว่า "เซลล์มะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรม" แพทย์โนเบลยืนยัน ไม่มีผลเกี่ยวข้องกันโดยตรง พันธุกรรมไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็ง แต่เป็นเพียงความเสี่ยงเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส วิถีชีวิต พฤติกรรมการกิน หรือได้รับสารก่อมะเร็ง มีผลต่อการเกิดมะเร็งมากกว่าพันธุกรรม
แก้ไขเมื่อ 02 ธ.ค. 55 16:38:38
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
2 ธ.ค. 55 16:37:55
|
|
|
|