ยุโรปไม่เคยเรียนรู้จากวิกฤตกรีซ
|
|
(ที่มา:มติชนรายวัน 3 ธันวาคม 2555)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีคลังยุโรปได้ปะติดปะต่อมาตรการให้ความช่วยเหลือสำหรับกรีซเป็นครั้งที่ 3 แล้ว และยืนยันต่อชาวยุโรปว่า กรีซกลับมาอยู่บนเส้นทางสู่ความมีสุขภาพดีทางการเงิน
แต่เป็นเรื่องจริงตามนั้นหรือ? สื่อมวลชนเยอรมนีไม่คิดเช่นนั้น
อย่างน้อย บรรดาผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยงหรือเฮดจ์ฟันด์ก็ยินดีในเรื่องนี้ ข้อตกลงที่เห็นพ้องกันเมื่อคืนวันที่ 26 พฤศจิกายนระหว่างรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อลดหนี้สินมหาศาลของกรีซยังรวมไปถึงมาตรการที่ระบุเงื่อนไขให้รัฐบาลกรีซซื้อหนี้กลับ นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่ราคาต่ำมากถึง 17 เซ็นต์ในหน่วยเงินยูโร ถึงตอนนี้สามารถขายคืนให้รัฐบาลได้ที่ราคาราว 35 เซ็นต์ ถือว่าได้กำไรน้อยนิดมาก
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่อื่นๆ ดูเหมือนจะไม่ประทับใจเท่าไหร่นัก ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาและค่าเงินยูโรอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยกรีซถูกยกมาอ้างเป็นสาเหตุของความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง ร่วมกับปัญหาหนี้สหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่า นักลงทุนมองว่าข้อตกลงเรื่องกรีซเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของบรรดาผู้นำยุโรปที่จะ "ดำน้ำ" ฝ่าวิกฤตไป แทนที่จะก้าวไปข้างหน้าและหาวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
แกรี่ เจนกิ้นส์ กรรมการผู้จัดการสถาบันวิจัยซอร์ดฟิช ซึ่งศึกษาเรื่องตลาดพันธบัตรนานาชาติ บอกว่า "ยังคงมีความเป็นไปได้สำหรับข้อตกลงนี้ที่จะล้มเหลวในระยะกลาง จากการที่มีหลายส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ และยังคงอยู่ห่างไกลจากการแก้ปัญหาในแบบถาวรแบบที่ไอเอ็มเอฟยืนกราน"
ข้อตกลงดังกล่าวนี้คาดว่าจะลดปริมาณหนี้ของกรีซลงจากระดับที่คาดหมายว่าจะสูงที่สุดในปีหน้าที่ 190 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลงให้เหลือ 124 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีภายในปี 2020 และหวังว่าจะลดลงเหลือ 110 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022
ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้กรีซผิดนัดชำระหนี้บางส่วน ซึ่งจะทำให้หนี้สินของประเทศลดลงได้เร็วกว่าและมากกว่าในท้ายที่สุด ทว่า มาตรการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องขมปร่าทางการเมืองในเยอรมนีและประเทศยูโรโซนชาติอื่นๆ
แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น รัฐมนตรีคลังยูโรโซนและไอเอ็มเอฟ มาพร้อมกับมาตรการหลายข้อที่รวมถึงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยเหลือ การยืดระยะเวลาใช้คืนออกไป และการคืนเงินกำไรที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้จากการซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซผ่านทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นอกจากนี้ กรีซยังจะซื้อหนี้ของตนเองกลับในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ด้วย โดยทึกทักเอาว่า นักลงทุนเอกชนยินดีที่จะขาย
ข้อตกลงดังกล่าวยังจะทำให้เยอรมนีสูญเงินไปจริงเป็นครั้งแรกอีกด้วย ที่จริงแล้ว ในปีหน้าเพียงปีเดียวจะส่งผลให้ขาดแคลนรายได้ไปถึง 730 ล้านยูโร
สื่อเยอรมนีได้แสดงออกถึงความไม่เชื่อมั่นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้กรีซกลับมาอยู่บนเส้นทางสู่การมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วบอกว่า ที่จริงแล้ว ชัดเจนว่า เป็นการขยับตัวเพื่อซื้อเวลาเพิ่มอีก
ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สดอยช์ลันด์ที่เขียนแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นเรื่องยากที่จะจริงจังกับข้อตกลงใหม่ที่ประนีประนอมกันได้ระหว่างชาติสมาชิกยูโรโซนกับไอเอ็มเอฟ แทบจะไม่มีใครสงสัยอีกต่อไปแล้วว่า ในระยะยาว กรีซจะต้องเรียกร้องให้มีการลดหนี้อีก และจะยังถูกตัดขาดจากตลาดทุนและยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติ เป็นการตระหนักถึงสิ่งที่พลเมืองของยุโรปจะต้องรู้อยู่แก่ใจ ผลจากการเจรจาของยูโรโซน-ไอเอ็มเอฟครั้งนี้จะต้องอาศัยความซื่อตรงทางการเมืองในระยะเวลายาวนานเกินไป
"กรอบแนวทางระยะยาวที่จะลดหนี้กรีซหรือ? ลืมไปได้เลย แท้ที่จริงแล้ว ภาพมายานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีคือ การพยายามควบคุมไม่ให้ทั้งหมดทั้งมวลนี้กระทบกับผู้เสียภาษีชาวเยอรมันมากนัก"
ด้าน ดี เวลต์ หนังสือพิมพ์แนวทางอนุรักษนิยมระบุว่า "ความจริงที่ว่า รัฐสภาเยอรมนี (บุนเดสทาก) เป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในเรื่องนี้ไม่มีใครเลยในยุโรปตอนใต้ที่เป็นกังวล บุนเดสทากอาจจะผ่านข้อตกลงนี้ในนามของความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในยุโรป แต่ความจริงที่ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีมาตรการที่มีความสูญเสียอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดูเหมือนจะไม่สร้างปัญหาให้ใคร เพราะเป็นที่ชัดเจนมานานแล้วว่าบรรดาผู้เสียภาษีถูกขอร้องให้รับผิดชอบการจ่ายเงินส่วนนี้ในท้ายที่สุด ในทุกๆ กรณีรัฐมนตรีคลังยังคงทำเหมือนว่า สักวันหนึ่งกรีซจะสามารถกลับมาจ่ายหนี้ของตนเองได้ แต่เส้นที่ขีดไว้นั้นควรจะต้องข้ามให้ได้ภายในอนาคตที่ไม่ไกลนัก"
จากคุณ |
:
Anemone2526
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ธ.ค. 55 11:43:34
|
|
|
|