โบว์-มนต์ริสสา ลีนุตพงษ์ ดีไซเนอร์ผู้คิด ..นอกกรอบ
|
|
ธุรกิจ : BizWeek วันที่ 5 ธันวาคม 2555 01:00 โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“โบว์-มนต์ริสสา ลีนุตพงษ์” ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ SKIN ON SKIN by Monrissa
มีพ่อเป็นคุณหมอ เกิดมาในตระกูลใหญ่โต อยู่ในสถานะที่ผู้คนเรียกว่า“ไฮโซ” ได้เต็มปาก แต่เธอกลับเลือกฉีกทุกกรอบ มาพิสูจน์ตัวเองบนถนน"ดีไซเนอร์"
ร้านเสื้อผ้ามีสไตล์ แบรนด์ SKIN ON SKIN by Monrissa และ Monrissa Couture ที่แสดงตัวอยู่ ณ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สร้างความสะดุดตาให้กับผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยือนที่นี่
ใครจะคิดว่า “หอศิลป์ฯ” จะมีร้านเสื้อผ้า หรือแม้แต่คนทำธุรกิจเสื้อผ้าที่ไหน จะกล้าเลือกทำเลอย่างหอศิลป์ฯ มาทำการค้า ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีผู้คนพลุกพล่าน หรือมีเป้าหมายมาเพื่อชอปปิงเสื้อผ้า
“ที่เลือกที่นี่ เพราะมีความเป็นตัวตนของตัวเอง” คือเหตุผลที่ “โบว์-มนต์ริสสา ลีนุตพงษ์” ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ วัย 24 ปี บอกกับเรา เธอคือ ทายาทคนเล็กของ “นพ.วิชิต และ พรเพ็ญ ลีนุตพงษ์” ตระกูลของเธอเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้นำเข้ารถหรู “กลุ่มยนตรกิจ” แต่เธอมุ่งมั่นตั้งแต่ต้นที่จะบอกกับทุกคนว่า...
“ชอบอาร์ท สนใจอาร์ท และอยากเรียนอาร์ท”
ยิ่งมีคำถามมากขึ้นไปอีก เมื่อเธอไม่ได้เรียนมาทางแฟชั่นดีไซน์ แต่เสื้อผ้าสวยๆ ทุกตัวในร้าน เป็นฝีมือของเธอล้วนๆ มนต์ริสสา บอกว่า เธอจบปริญญาตรี สาขา Media Arts ที่ Royal Holloway University of London และ ปริญญาโทด้าน Image and Communications ที่ Goldsmiths University of London
“ส่วนหนึ่งที่เรียนมา มีการวิจัยภาพยนตร์ด้วย โดยใช้จิตวิทยาในการศึกษาทุกอย่าง ภาพที่ออกมาในสื่อ มีอะไรอยู่เบื้องหลังความคิด เป็นการศึกษาคน พฤติกรรมของคน ซึ่งเสื้อผ้าก็เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง คนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่ได้เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย มั่นใจ และรู้สึกดีกับตัวเอง”
“ทักษะ” ทางด้านแฟชั่นดีไซน์ อาจเท่ากับศูนย์ แต่เธอบอกว่าในแง่วิธีคิด ไม่ว่าจะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือความเป็นศิลปะ ก็เหมือนกับที่เธอเรียนมา และอาจได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำ เพราะสามารถใช้สายตาและมุมมองทางด้านจิตวิทยา มาคัดสรรสิ่งที่ดูดี ดูเก๋ สอดรับกับความต้องการลึกๆ ของผู้บริโภค ให้เป็นแฟชั่นและดีไซน์แบบเฉพาะตัวขึ้นมาได้
“เราเปิดกว้างที่จะเข้าไปถึงจิตใจผู้คน และรับทุกอย่างที่เป็นความสร้างสรรค์ มองว่า Skill ต่อให้มี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ Skill ก็จะหยุดแค่นั้น แต่ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ เราจะมีทุนที่พร้อมขยายสิ่งที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นไปอีก” เธอสะท้อนมุมคิด
ทักษะที่ขาดไป ก็ใส่เติมด้วยการลงมือทำและประสบการณ์ ค่อยๆ เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก จนได้แนวของเสื้อผ้าในแบบที่ชอบ
“ต้องถูกใจตัวเองก่อนสิ ถ้าคิดแต่ทำถูกใจคนอื่น คนนั้นเขาก็ไปขายเสื้อผ้าเองแล้ว ต้องทำมาจากข้างใน และไม่ไปพยายามตามสังคม แต่ต้องให้อะไรเพิ่มกับสังคม ถ้าเราตามสังคม เราก็เป็นแค่ Follower ไม่ใช่ Leader” เธอบอก
ก่อนแนะนำเสื้อผ้าในร้าน ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ชุดลำลอง ใส่ทำงาน ปาร์ตี้เก๋ๆ ไล่ไปจนเดรสหรู รองรับผู้หญิงหลายๆ อารมณ์ อย่างอยากหวาน ตลก เศร้า อ่อนไหว อารมณ์ต้องเป็นเจ้านายจอมสั่งการ หรืออยากพักผ่อน อยากสบาย โดยรองรับลูกค้าตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงรุ่นใหญ่ เรียกว่าตั้งแต่ 17-18 ปี ไปจนถึง 40 ปี โดยแบรนด์ SKIN ON SKIN by Monrissa เริ่มต้นที่ 1,300-7,000 บาท ส่วน และ แบรนด์ Monrissa Couture ออกแบบพิเศษเพื่อลูกค้า ราคาที่หลักหมื่นบาทขึ้นไป
“เป็นคนที่ชอบลูกค้าเรื่องมากนะ แบบตรงนี้ใช่ ตรงนี้ยังไม่ได้ จะทำให้เขาพอใจจนได้เลย ขอแค่ต้องไว้ใจ และ ชอบงาน แต่ถ้ามาแบบขอลดได้ไหม ขอถูกไว้ก่อน แบบนี้ไม่ใช่แล้ว ผิดประเด็น คุณต้องลองจับเนื้อผ้าดูก่อน เราใช้ของดีนะ อยากขายในราคาที่ให้เกียรติผลงานตัวเองด้วย ทุกอย่างมันดีแน่นอน อย่าต่อเลย นี่ถือว่าใจดีแล้วนะ
หัวเราะ)”ปักหลักที่หอศิลป์ฯ อย่าคิดว่าจะไม่มีลูกค้า เธอบอกว่าตั้งแต่เปิดร้านมา มีลูกค้าต่างชาติประมาณ 70-80% อีก 20% คือคนไทยที่มีกำลังซื้อ ชอบผลงานและให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้ทำยอดขายถล่มทลายเหมือนไปตั้งในทำเลอื่น มาดูวิธีคิดที่เธอบอกกับเรา
“เหมือนกับมด เวลามีแครกเกอร์หล่นอยู่ มดส่วนใหญ่จะวิ่งไปหาแครกเกอร์ก้อนใหญ่ แล้วไปรุมกิน แต่จะมีเศษแครกเกอร์เล็กๆ ที่กระเด็นกระดอนไปอีกทาง และมีมดแค่ตัวเดียวที่เดินไปกิน มันกินจนอิ่มเลยนะ อาจได้แค่เศษเล็กๆ แต่ว่ากินอย่างมีความสุข ก็เหมือนโบว์ มองว่ามีที่เล็กๆ เป็นจุดยืนของตัวเอง อาจไม่ใหญ่โตเท่าคนอื่น แต่ไม่ไปแย่งใครกิน”
เธอบอกวิธีคิด ที่ต้องต่อสู้กับคำทัดทานของใครหลายคน แน่นอนว่าทุกคนอยากให้เธอวิ่งไปหาแครกเกอร์ก้อนใหญ่ แต่เธอก็ยืนยันที่จะเลือกกินอย่างมีความสุขกับแครกเกอร์ก้อนเล็กๆ แม้ดูจะสวนทางกับความสำเร็จทางธุรกิจอยู่มาก
“ไม่อยากให้ผ่านไป 20 ปี แล้วต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเรากลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
ประสบความสำเร็จทางด้านเงินทอง แต่ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ แล้ว 20 ปีนั้น จะเป็นความสุขจริงเหรอ แต่ถ้าวันนี้ได้เริ่มในสิ่งที่อยากทำ แม้จะล้มเหลว แต่อย่างน้อยก็บอกตัวเองได้ว่า เราได้ลองเป็นตัวตนจริงๆ แล้ว คิดว่าดีที่สุดแล้ว และคงน่าเสียดายน้อยกว่า การที่ได้เงินมา แต่ไม่ได้ศักดิ์ศรี”
เธอยอมรับว่า งานที่ทำ อาจไม่ได้ทำให้ร่ำรวยมากมาย แต่จะกังวลอะไรเมื่อความสำเร็จในธุรกิจนี้ เธอไม่ได้วัดเป็นตัวเงินอยู่แล้ว
“ความสำเร็จ มองว่า ตั้งแต่ ทำเสร็จ แล้วชอบ ได้เก็บเป็นผลงานของตัวเอง เอาไว้โชว์คนอื่น หรือแค่เก็บไว้ให้ลูกหลานดู เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว และ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”
เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวย แต่เธอบอกว่า หนึ่งความโชคดี คือมีคุณแม่ที่มาจากครอบครัวธรรมดาๆ คุณยายของเธอคือช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ที่สามารถส่งลูกๆ เรียนจบปริญญาทุกคน (บางทีพรสวรรค์ด้านนี้อาจส่งทอดมาจากคุณยายของเธอก็ได้) ทำให้เธอรู้ “คุณค่าของชีวิต” มากกว่าการอยู่แบบคนรวย หรือปิดตัวเองอยู่แต่ในสังคมไฮโซ แต่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ด้วยสองมือของตัวเอง
เพราะเติบโตมาจากครอบครัวที่ให้อิสระอย่างเต็มที่ จึงสอนให้เธอกล้าคิดกล้าทำ แม้ต้องต่อสู้อยู่มากกับคำว่า “แปลกต่าง” และยากที่จะมีคนเข้าใจ แต่ถ้าเชื่อมั่นในตัวเอง และกล้าที่จะเดินตามความคิดของตัวเอง ทุ่มเทให้เต็มที่ พิสูจน์ด้วยผลงาน ก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก แต่มีความสุข อย่างเธอได้ในวันนี้..
“จะทำแบบนี้ได้ ต้องมี 3 ส่วน ที่ไปด้วยกัน คือ ความกล้า ความเก่ง และทุน กล้าให้พอ เก่งให้พอ และมีทุนพอ โบว์คิดว่าโชคดีที่มีพ่อแม่สนับสนุน พวกนี้ คือโชคทั้งนั้น และทั้งสามส่วนสำคัญ ขาดอันใดอันหนึ่งไปก็คงทำไม่ได้”
ความคิดคมๆ ของผู้ประกอบการเลือดใหม่ ผู้ไม่ชอบเดินตามใคร แต่ขอเลือกเส้นทางของตัวเอง
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
6 ธ.ค. 55 08:58:18
|
|
|
|