ถอดโมเดล"ลูกเจ้าสัว"ยึดอาเซียน ค่ายกล Regional Integration
|
|
ธุรกิจ : BizWeek วันที่ 7 ธันวาคม 2555 01:10 โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บิ๊กดีล การถือหุ้นF&N หนึ่งบริบทสำแดงเดช ทายาทไทยเบฟ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ลูกเจ้าสัวเจริญ ไม่ได้เล่นเป็นแต่บทบู๋บทบุ๋น ปูทางพันธมิตรใน10ประเทศ
หลังสร้างประวัติศาสตร์กิจการไทยบุกอาเซียนด้วยบิ๊กดีล กับความพยายามฮุบหุ้นใหญ่บริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ในสิงคโปร์ ภาคต่อหนีแรงต้านตลาดหุ้นไทย ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์เมื่อปี 49 แล้ว ล่าสุดบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยังเป็นบริษัทนำร่องที่เปิดซื้อขายในตลาดหุ้นอาเซียน (ASEAN Link) เมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ฉายภาพการวางกลยุทธ์เป็นขั้นเป็นตอน ก่อนไต่สู่การครองตลาดอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกธุรกิจที่ไปต้องติดอันดับท็อปทรี !
แน่นอน แม้ว่าแผนแผ่อาณานิคมทางการค้าในอาเซียน ย่อมต้องมีเสนาบดีมือเก๋า ในแต่ละกลุ่มธุรกิจวาดแผนถากถางทางให้ทายาทรุ่นใหม่ก้าวเดิน กลายเป็นความกังขาต่อความสามารถของเจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟ หนึ่งในผู้ซึ่งเจ้าสัวเจริญ หมายให้สืบทอดกิจการแสนล้านต่อจากเขา ว่าที่จริงแล้ว เก่งจริงหรือหลอก ! เขามีส่วนในการระดมสมองกับงานช้างนี้มากน้อยแค่ไหน ด้วยความที่ร่างเงาของผู้พ่อ และแม้แต่บรรดากุนซือทั้งหลาย กลบเงาเขาจนมิด
ทว่าเมื่อผ่านความคิดของฐาปนออกมาเป็นคำพูด ในเวทีเสวนาบ่อยครั้งขึ้น แม้เขาจะพูดน้อยแต่ประมวลได้ว่า “ฐาปน” เป็นคนที่มีวิธีคิด มุมมองธุรกิจ ที่ทั้งถ่ายทอดทางดีเอ็นเอ ทั้งน่าจะถูกสอนกันมาอย่างดีจากคนในตระกูล กับบุคลิกสุภาพ นอบน้อม มือเป็นดอกบัวเจอใครก็ไหว้ไว้ก่อน ไม่ต่างจากเจ้าสัวเจริญ
ฐาปน มองว่าธุรกิจจากนี้ไปมองแค่ในประเทศไม่พอแล้ว เพราะตลาดเปิด โดยเฉพาะ 10 ประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นโอกาสที่ต้องพุ่งเข้าใส่ กับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ขณะที่คนหนุ่มไฟแรงกว่า และมีความพร้อมด้านภาษา กลายเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า
“ไทยเบฟให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียน เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงมากขึ้น ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนอาจจะยังไม่ตื่นตัวจริงจัง แต่วันนี้ทุกอย่างคล่องตัว”
เขายังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เออีซี จะทำให้ตลาดเพิ่มจาก 70 ล้านคนในไทย เป็น 600 ล้านคนในอาเซียน ดังนั้นการขยายธุรกิจของไทยเบฟในอนาคตจะต้องมองถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว
ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้รุกตลาดประเทศนั้น ไม่เพียงการเล่นบทบู๋ด้วยการไล่ซื้อกิจการชาวบ้าน เพื่อสวมหัวเป็นหุ้นใหญ่ ต่อยอดความรวย ทั้ง เอฟแอนด์เอ็น โออิชิ และเสริมสุข ดูเหมือนฐาปนพยายามแก้ภาพลักษณ์นี้ให้กับไทยเบฟ ด้วยอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ การวางโครงข่ายพันธมิตรอาเซียน (regional Integration) ทั้ง 10 ประเทศ ที่จะเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำของคนหนุ่มเช่นเขา ที่จะต้องกล้าลุย และมุ่งมั่นที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ
“เราจะต้องผสมผสานคนยุคเก่าที่มีประสบการณ์และความรอบคอบ เคยเดินมาก่อน กับคนรุ่นใหม่มีความกล้าและมุ่งมั่นในการทำอะไรบางอย่าง เอาข้อดีของสองรุ่นมาผสมผสานจะเกิดความได้เปรียบในการคิดจะทำอะไรใหม่ในระยะยาว” เขาเปิดมุมมอง ก่อนจะขยายความถึงแผนการสร้างพันธมิตรในอาเซียนว่า ที่ผ่านมาไทยเบฟมองหาพันธมิตรตลอดเวลา เพื่อเติมเต็มจุดแข็งทางธุรกิจ สร้าง “ทางด่วน” ของการเติบโต โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นธุรกิจด้วยการนับหนึ่ง (Organic Growth)
“เรามองหาพันธมิตร คู่ค้ามาตลอด ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนก็มีความลงตัวแตกต่างกัน พันธมิตรเป็นทางเชื่อมต่อสำคัญทำให้เราโตก้าวกระโดด หากเจรจากับพันธมิตรแล้วเกิดพออกพอใจกัน ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันด้วยการควบรวมกิจการ (M&A - Mergers & Acquisitions)” เขายังมีมุมมองในการ "แปลงศัตรูเป็นมิตรทางธุรกิจ" ได้อย่างน่าสนใจ “เราจะแข่งขันกันไปทำไม สู้รวมตัวกันขยายฐานเพื่อการเติบโตที่ดีขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ไม่ใช่พอประเทศเปิดปุ๊บต้องตั้งบริษัทได้เลย ร่วมกันได้เลย ไม่ใช่แบบนั้น”
นอกจากนี้ เขายังระบุถึงข้อดีของการมีพันธมิตรทางธุรกิจว่า จะช่วยเป็นฐานในการเรียนรู้ไปพลางๆ ก่อนจะเข้าไปทำตลาดจริงๆจังๆ โดยพันธมิตรจะทำให้เกิดการเข้าใจตลาด เรียนรู้นิสัยใจคอคนในพื้นที่
เหมือนตัวอย่างที่ไทยเบฟเข้าไปตั้งสำนักงานใน 7 ประเทศ ส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือไปจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลก เริ่มต้นจากการส่งออกก่อนจะไปตั้งโรงงานผลิต ชัดที่สุดคือการไปตั้งฐานโรงงานผลิตสกอตวิสกี้ในสกอตแลนด์ 5 โรงงาน เพื่อใช้เป็นฐานส่งไปทำตลาดในตลาดอินเดีย ในการรุกตลาดต่างประเทศของไทยเบฟ เป็นไปตามเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศเพิ่มจาก 4-5% ในปัจจุบัน เป็น 30%ในอนาคต จากยอดขายในปี 2554 อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท
ปัจจุบันไทยเบฟประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา, เบียร์, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศ และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าครอบคลุม ศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง ศูนย์ขนส่ง 23 แห่ง และคลังสาขาจังหวัดอีก 86 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายโลจิสติกส์ของบริษัทเสริมสุขจำกัด (มหาชน) ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายใน 2 แสนร้านค้า ที่ผ่านมายังมีเครือข่ายจาก Inver House ในสกอตแลนด์ และสำนักงานใน 7 ประเทศ ทำให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือเพื่อจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลกใน 3 โรงเบียร์, 6 โรงงานผลิตเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์, 18 โรงงานสุรา, 5 โรงงานผลิตสกอตวิสกี้ในสกอตแลนด์, และ 1 โรงงานผลิตสุราในจีน
ไทยเบฟเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายแรกและรายเดียวของไทยที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 30 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
7 ธ.ค. 55 21:16:44
|
|
|
|