Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จิตสำนึกกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร vote ติดต่อทีมงาน

Link : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54654
Credit : ขอบคุณคุณ Thai VI Article และคุณ ดร.นิเวศน์ครับ

จิตสำนึกกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร leaf


 การเป็น Value Investor ที่มุ่งมั่นนั้นหมายความว่าเรามองการซื้อหุ้นเหมือนกับการลงทุนทำธุรกิจ  นี่คือหลักคิดที่ VI โดยเฉพาะที่เป็นสายของการลงทุนระยะยาวแนวฟิสเชอร์หรือบัฟเฟตต์ยึดถือ  ดังนั้นสำหรับคนเหล่านี้แล้ว  พวกเขาจึงมักจะคิดถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทที่เสนอขายต่อลูกค้าและสังคมนอกเหนือไปจากกำไรที่บริษัทจะได้รับด้วย  พูดง่าย ๆ   พวกเขาไม่อยากจะทำธุรกิจที่มีผลกระทบทางลบต่อลูกค้าและสังคมโดยรวมแม้ว่ามันจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้งดงามกว่าปกติ  ตัวอย่างง่าย ๆ  ของธุรกิจแบบนี้ก็เช่นสิ่งที่เรียกกันว่า “ธุรกิจบาป” ทั้งหลาย เช่น  การขายบุหรี่  ค้าอาวุธ  หรือบริการทางเพศ เป็นต้น   ในทางตรงกันข้าม  VI บางคนอาจจะอยากลงทุนในธุรกิจที่เสริมสร้างความเจริญและความดีงามให้แก่ลูกค้าและสังคมแม้ว่าธุรกิจนั้นอาจจะไม่ได้ทำกำไรมากนัก  ขอเพียงให้มีผลตอบแทนพอสมควรเขาก็ยินดีที่จะลงทุนด้วย  ตัวอย่างเช่น  ธุรกิจเกี่ยวกับการให้ความรู้  ธุรกิจที่ช่วยให้คนที่ยากจนหรือเสียเปรียบสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นต้น   นอกจากเรื่องของตัวธุรกิจแล้ว  ทัศนคติของผู้บริหารก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้นด้วย  นั่นก็คือ  VI อาจจะอยากหรือไม่อยาก  “ทำธุรกิจ” กับคนที่คิดเหมือนหรือแตกต่างจากตนในบางเรื่องที่เขาคิดว่าสำคัญ

  ธุรกิจกลุ่มแรกที่ผมจะพูดถึงที่  “จิตสำนึก”  เข้ามามีส่วนต่อการตัดสินใจของ VI บางคนก็คือ  ธุรกิจที่  “ผิดศีล”  ซึ่งหลัก ๆ  ก็คือ  ศีลห้าในศาสนาพุทธ  VI บางคนที่  “เคร่งศาสนา”  มากก็อาจจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ทำผิดศีลห้าได้แก่การฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และการดื่มสุราและของมึนเมา  ซึ่งธุรกิจที่จะเข้าข่ายน่าจะรวมถึงธุรกิจอาหารที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ต้องฆ่าสัตว์  ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเหล้า เบียร์  ไวน์ ซึ่งนี่น่าจะรวมถึงร้านค้าปลีกทั้งหลายที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของการเป็นผู้ค้าปลีกที่เหล้าเบียร์เป็นเพียงส่วนน้อยของสินค้าที่ขายนั้น  VI บางคนก็อาจจะมองว่าไม่ใช่เป็นประเด็นใหญ่  ว่าที่จริงบริษัทหรือร้านที่ขายเองนั้นก็ไม่ได้ดื่มเองหรือส่งเสริมให้คนดื่ม  การขายก็เป็นเพียงแต่การบริการให้ความสะดวกกับลูกค้า  เหนือสิ่งอื่นใด  บาปของการดื่มสุราหรือเบียร์นั้นก็ไม่น่าจะรุนแรงเมื่อเทียบกับบาปจากการผิดศีลข้ออื่น  โดยเฉพาะถ้าคนดื่มนั้นไม่ได้ดื่มมากจนครองสติไม่อยู่

  ธุรกิจบางอย่างนั้นอาจจะไม่ได้ผิดศีลแต่มีส่วนในการทำลายสุขภาพทางกายและใจของคนที่บริโภคหรือใช้บริการ  ตัวอย่างน่าจะรวมถึงบุหรี่ที่เป็นโทษต่อคนสูบมาก  ลอตเตอรี่หรือคาสิโนที่มักทำให้คนเล่นติดและบางครั้งทำให้เสียทรัพย์สินจนทำให้เกิดปัญหาทางการเงินและครอบครัวตามมา  นอกจากนั้น  บางคนก็อาจจะมองไปถึงเกมคอมพิวเตอร์ที่เด็กชอบเล่นและบางคนก็ติดจนเป็นปัญหาให้กับตัวเด็กและพ่อแม่ด้วย  นี่ก็เช่นกัน  ดีกรีหรือระดับของการทำลายสุขภาพทางกายและใจก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา  VI บางคนอาจจะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด  บางคนก็ดูว่า  ถ้าเป็นเรื่องของบุหรี่หรือคาสิโนจะไม่สนใจลงทุน  แต่อะไรที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นสินค้าอันตรายจริง ๆ  แม้ว่าจะมีความเสี่ยงบ้างสำหรับบางคนแต่ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ของสังคม  เช่น ลอตเตอรี่หรือเกม  แบบนี้ก็พอลงทุนได้   เหนือสิ่งอื่นใด  การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในตลาดเองนั้นก็เป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน

  ธุรกิจที่ช่วยให้คนและสังคมดีขึ้นนั้นผมคิดว่า VI ส่วนใหญ่น่าจะอยากลงทุนมากกว่าธุรกิจอย่างอื่นที่มีผลตอบแทนดีพอ ๆ  กัน  ธุรกิจเกี่ยวกับการให้ความรู้หรือธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษานั้นดูเหมือนจะเข้าข่ายนี้โดยไม่มีข้อสงสัย  ดังนั้น  กิจการเกี่ยวกับหนังสือ  สำนักพิมพ์  หรืออาจจะรวมถึงหนังสือพิมพ์ น่าจะได้รับการต้อนรับที่ดีถ้าผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นสูงพอเป็นหุ้น VI ได้   VI บางคนหรืออาจจะส่วนใหญ่ก็น่าจะมองว่าธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและยานั้นเป็นธุรกิจที่พึงประสงค์ในการลงทุน   อย่างไรก็ตาม  VI บางคนกลับมองตรงกันข้ามว่า  ธุรกิจโรงพยาบาลบางแห่งที่มีกำไร  “มโหฬาร”  ซึ่งขับเคลื่อนราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วนั้น  เป็นหุ้นที่เขาจะไม่ลงทุน  เพราะเขารู้สึกหรือมี “จิตสำนึก” ว่า   กำไรที่มากกว่าปกติของโรงพยาบาลนั้น  เกิดจากการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากซึ่งเป็นเหมือนกับการ “ขูดรีด” คนที่กำลังเจ็บ  จริงอยู่  ถ้าคุณไม่มีเงินคุณก็ไม่ต้องเข้ามารักษา  แต่นี่ก็เหมือนกับเป็นการกีดกันให้คนจนต้องได้รับบริการทางการแพทย์ที่ด้อยลงไป  ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด  โรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่าบริการแพงและกำไรมาก  สำหรับพวกเขาแล้ว  ไม่ใช่ธุรกิจที่เขาอยากลงทุนเนื่องมาจาก  “จิตสำนึก” เลย

  จิตสำนึกอีกแบบหนึ่งที่อาจจะมีผลต่อการลงทุนก็คือ  จิตสำนึกต่อผลประโยชน์ของสังคมหรือประเทศชาติ  นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทได้สิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น  ได้รับสัมปทานผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดในกิจการสาธารณูปโภค  เช่น  โทรคมนาคม  คมนาคม  พลังงาน  และอื่น ๆ   ประเด็นไม่ใช่ว่าแค่เป็นการได้รับสิทธิหรือสัมปทาน   แต่เป็นเรื่องที่บริษัทอาจจะได้รับมันมาในราคาหรือต้นทุนที่ต่ำมากและบริษัทสามารถตั้งราคาขายบริการแก่ประชาชนในราคาที่สูงซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรมหาศาลโดยไม่ต้องแข่งขันหรือใช้ความพยายามอะไรนัก  ผลประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศชาติเสียหายไปแต่บริษัทได้กำไรมากเกินไปโดยที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงเลยนั้น  มันอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกหรือจิตสำนึกแก่คนที่มองว่า  นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่เขาอยากทำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นที่ทำกำไรมากเพราะความสามารถของบริษัทในการเสนอสินค้าที่ดีกว่าคู่แข่ง  ไม่ใช่กำไรมากเพราะ “อำนาจรัฐ”

  จิตสำนึกที่เกี่ยวกับการลงทุนเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ทัศนคติ  มุมมอง  หรือความเชื่อ  หรือนิสัยของผู้บริหารหรือเจ้าของ  กับตัว VI เอง   นี่เป็นเรื่องที่เป็น  “ส่วนตัว”  จริง ๆ  ระหว่าง VI กับเจ้าของหรือผู้บริหาร  ตัวอย่างเช่น  VI คนหนึ่งอาจจะมีความคิดทางการเมืองแบบหนึ่งและมีความรู้สึกที่รุนแรง  เขาก็อาจจะไม่อยากลงทุนในบริษัทที่ผู้บริหารหรือเจ้าของมีแนวความคิดที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงและได้แสดงให้ VI เห็นหรือเป็นที่รู้กันทั่วไป  ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่า  VI อาจจะรู้สึกว่าผู้บริหารที่มีความคิดแบบนั้นในทางการเมือง  ก็น่าจะมีความคิดอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับตนเองไปด้วย  อย่าลืมว่าคนที่มีความคิดต่างกันโดยเฉพาะในเรื่องของการเมืองนั้น   มักจะคิดว่าความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง   “ไม่มีเหตุผล”  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดว่าเขาไม่อยากลงทุนด้วยถ้ากิจการมันไม่ดีเด่นจริง ๆ

  เรื่องของจิตสำนึกนั้นยังน่าจะมีอีกมาก  ตัวอย่างเช่น  ถ้าคิดหรือรู้ว่าผู้บริหารเป็น  “คนโกง”   จิตสำนึกก็อาจจะบอกว่า  เราไม่อยากลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับคนแบบนี้แม้ในใจอาจจะคิดว่ามีโอกาสทำกำไรจากตัวหุ้นได้ง่าย ๆ  เนื่องจากหุ้นตัวนั้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมาก  แต่ประเด็นก็คือ  เราคิดว่าเราจะรู้สึก “ผิด”  ที่ไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทหรือคนแบบนั้น    จิตสำนึกจะบอกว่า  “เราไปหาหุ้นตัวอื่นดีกว่า”  เหนือสิ่งอื่นใด  มีหุ้นอีกจำนวนมากที่เราสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจมากกว่า   ผมเองไม่รู้ว่า  VI แต่ละคนมีจิตสำนึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการลงทุน  บางคนอาจจะไม่มีเลย  นั่นคือ  การลงทุนของเขานั้น  อิงกับเรื่องของคุณค่าและราคาเป็นหลัก  บางคนมีน้อยเฉพาะในบางเรื่อง  และบางคนก็อาจจะมีมากขึ้นซึ่งอาจจะทำให้พลาดโอกาสลงทุนในกิจการที่มีคุณสมบัติในการทำกำไรที่ดีเยี่ยมบางบริษัท  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมไม่คิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องตัดจิตสำนึกออกจากการลงทุน  นั่นก็คือ  ถ้าลงทุนแล้วไม่สบายใจก็อย่าลงทุน  เท่านั้นเอง

จากคุณ : มิ่งกลิ้ง
เขียนเมื่อ : 9 ธ.ค. 55 16:50:49




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com