ดันไทยผงาดฮับโลจิสติกส์แทนสิงคโปร์
|
|
วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2012 เวลา 10:50 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : ข่าวหน้า1
สภาพัฒน์เปิด 8 ยุทธศาสตร์เชิงรุกไทย รับมือประชาคมอาเซียนปี 2558 บี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนปฏิบัติการ ก่อนขอจัดสรรงบปี 2557 เร่งดำเนินการ ขณะยกร่างเขตเศรษฐกิจพิเศษเสนอ ครม.ก่อนสิ้นปี
ด้านกระทรวงพาณิชย์ชี้เออีซีเข้าทาง ดันไทยผงาดศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาคแทนที่สิงคโปร์ สภาหอฯ จี้ผลักดันยุทธศาสตร์ฉบับเอกชนบูมค้าชายแดนโตอีก 9 เท่าตัว
การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ที่มีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เป็น 1 ใน 3 เสาหลักในปี 2558 ถือมีนัยสำคัญต่อโฉมหน้าประเทศไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการค้าระหว่างไทยและอาเซียนมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นดาวรุ่งการส่งออกที่กำลังมาแรง "ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ ""ค้าชายแดนดาวรุ่งส่งออกไทยสู่ AEC" ขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 โดยในการสัมมนาวิทยากรหลายท่านได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง (อ่านรายละเอียดสัมมนาในหน้า 4)
++สภาพัฒน์ดัน8ยุทธศาสตร์
นางสาวพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบ ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอให้เตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ล่าสุดรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเชิงรุก ภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ และการค้า การลงทุน 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.การพัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบ 6.การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงการเป็นประชาคมอาเซียน 7.การเสริมสร้างความมั่นคง และ 8.การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน
"ทั้ง 8 ยุทธศาสตร์ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไปทำแผนงานแล้วส่งกลับมาที่สภาพัฒน์ โดยมีบางกระทรวงเป็นเจ้าภาพบางส่วน เช่นกระทรวงพาณิชย์บูรณาการเรื่องการค้าการลงทุน สภาพัฒน์บูรณาการเรื่องทวาย และกระทรวงคมนาคมบูรณาการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เสร็จแล้วส่งสภาพัฒน์รวบรวม โดยจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีภายในก่อนสิ้นปี 2555 ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบปี 2557 เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนตามลำดับความสำคัญ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรอเสนอต่อที่ประชุม ครม.ก่อนสิ้นปีนี้เช่นกัน"
++สินค้าได้เปรียบ-เสียเปรียบ
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มอบหมายให้ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ภาพรวมศักยภาพสินค้า บริการ การลงทุนไทยในการเปิดเสรีภายใต้ เออีซีเพื่อวางแผนรับมือในภาพรวม โดยสินค้าที่ไทยได้เปรียบแต่ยังไม่พร้อมแข่งขัน เช่นยางพาราแท่ง / ยางแผ่นรมควัน บริการด้านธุรกิจ ส่วนที่ได้เปรียบและมีความพร้อม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน รถยนต์และชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูป น้ำตาลทราย บริการการท่องเที่ยว บริการสุขภาพและความงาม ก่อสร้างและวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การลงทุนสาขาเกษตร สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และสาขายานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนสินค้าที่เสียเปรียบและไม่พร้อม ได้แก่ สิ่งทอ บริการจัดจำหน่าย การศึกษา สิ่งแวดล้อม นันทนาการ วัฒนธรรม กีฬา
ส่วนสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดอาเซียน อาทิ ในตลาดอินโดนีเซียสินค้าที่ไทยได้เปรียบคือข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนสินค้าที่ต้องปรับตัวรับการแข่งขัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ในตลาดเวียดนามสินค้าไทยที่ได้เปรียบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ข้าวโพด ผลไม้ และที่ต้องปรับตัว ได้แก่ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ด้านผลต่อการค้าชายแดนของไทย สินค้าที่ได้เปรียบและถือเป็นโอกาสส่งออกเพิ่มอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป สินค้าเกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วนที่จะส่งออกไปยังเมียนมาร์ได้มากขึ้นหลังจากรัฐบาลเมียนมาร์ผ่อนคลายมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ใหม่ และเปิดรับการลงทุนมากขึ้น ส่วนที่เสียเปรียบคือ ผลกระทบจากค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้น และการเปิดเออีซีส่งผลให้อุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เออีซียังเปิดโอกาสให้ต่างชาติลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อาจเป็นคู่แข่งทางการค้ากับไทยในตลาดอาเซียน
++ไทยผงาดศูนย์การค้าแทนสิงคโปร์
ด้านนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการรวมตัวกันเป็นเออีซีของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนในปี 2558 นอกจากจะทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับในอนาคตแล้ว จะทำให้การค้าระหว่างประเทศของอาเซียนมีแนวโน้มเปลี่ยนลงรูปแบบการค้าจากการขนส่งทางทะเลที่มีสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางมาเป็นการค้าทางบกแทน ซึ่งจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยที่มีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค และเส้นทางคมนาคมมากกว่าประเทศอื่น และยังมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่ได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะก้าวขึ้นเป็นประเทศศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้แทนที่สิงคโปร์
"จากคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยให้สูงขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันราว 2-3 เท่าตัว จากในปี 2554 การค้าชายแดนไทยกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชามีมูลค่ารวม 890,669 ล้านบาท และช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 759,140 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 175,414 ล้านบาท"
++ชงยุทธศาสตร์ฉบับเอกชน
ขณะที่นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศข้างต้น(ส่งออก+นำเข้า) สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งประเมินจากศักยภาพการนำเข้า-ส่งออกของแต่ละประเทศแล้ว หากไทยสามารถช่วงชิงตลาดมาได้ การค้าชายแดนไทยกับมาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ยังสามารถขยายได้ถึง 9 ล้านล้านบาทต่อปี หรือโตได้อีก 9 เท่าตัว
ทั้งนี้การที่จะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวขอเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการใน 8 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.ต้องปรับปรุงด่านถาวรที่มีความแออัด และด่านถาวรที่มีศักยภาพพร้อมกับการขยายเวลาในการทำงานให้มากขึ้น 2.ต้องผลักดันในการยกฐานะจุดผ่อนปรนให้เป็นด่านถาวรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เฉพาะอย่างยิ่งด้านด่านลาวที่ 21 ด่านยังเป็นแค่จุดผ่อนปรน 3. การผลักดันการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทางบก และทางน้ำเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
4.ต้องผลักดันการเดินรถไม่จำกัดจำนวนแบบทวิภาคีกับกัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซียให้เร็วที่สุด 5.การผลักดันกรอบความร่วมมือต่างๆ เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยว 6.การผลักดันแบบทวิภาคีให้มีคณะกรรมการว่าด้วยการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 7.การผลักดันให้มีการจัดตั้ง Sister City กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชายแดนต่างๆ ให้ทันสถานการณ์ และ 8. การผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามบริเวณจุดตัดแถบเศรษฐกิจ หรือจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพเริ่มต้นที่แม่สอด จังหวัดตาก
"ในเรื่องการอำนวยความสะดวกการขนถ่ายสินค้าหรือการเดินทางข้ามแดนนั้น ประเทศไทยได้ทยอยทำข้อตกลงขนส่งข้ามแดน(ครอส บอเดอร์ ทรานสปอร์ตเตชั่นอะกรีเมนต์)แบบทวิภาคีแล้วกับ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยจะเปิดให้รถบรรทุกของอีกฝ่ายสามารถผ่านแดนเข้ามาได้ 500 คัน ซึ่งนับจากนี้จะได้เห็นรถยนต์ทะเบียนเมียนมาร์ ลาว หรือกัมพูชาวิ่งเข้ามาบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งการขนส่งสินค้าข้ามแดน และการค้าผ่านแดน เช่นกัมพูชาขายสินค้าให้เมียนมาร์ ก็ใช้รถบรรทุกจากกัมพูชาผ่านประเทศไทยไปถึงเมียนมาร์โดยตรง นอกจากนี้ยังได้เปิดเดินรถโดยสารประจำทาง บขส.กรุงเทพฯ-นครวัด และกรุงเทพฯ-พนมเปญ ดังนั้นเมื่อพรมแดนหายไปก็กลายเป็นตลาดภายในหรือเป็นตลาดเดียวกันทำให้การค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันจะขยายตัวอีกมหาศาล"
-เสนอตั้งเขตศก.พิเศษระนอง
ด้านนางนฤมล ขรภูมิ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าการที่จะช่วงชิงความได้เปรียบการค้าชายแดนหลังเปิดเออีซี ภาคเอกชนของไทยต้องตระหนักและคิดให้เท่าทันประเทศเพื่อนบ้าน และต้องตระหนักรู้ในเรื่องภาษาท้องถิ่น นอกเหนือจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจากการที่ได้เดินทางไปเยี่ยมเมืองทวายของเมียนมาร์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าชาวเมียนมาร์มีความตื่นตัว และเตรียมตัวรองรับเออีซีมาก ช่วง 1-2 ทุ่มในคอร์สเรียนของเด็กทวายทุกคนต้องเรียนภาษาไทย ดังนั้นเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักรู้เท่าทันในส่วนของหอการค้าจังหวัดระนอง ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์มากสุดในประเทศได้ผลักดันให้วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยเทคนิค รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งชั้นประถมต้น และชั้นประถมปลายได้เริ่มต้นที่จะมีการเรียนภาษาเมียนมาร์เพื่อให้รู้เขารู้เรา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,801 วันที่ 16-19 ธันวาคม พ.ศ. 2555 http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=159347:2012-12-14-15-14-41&catid=85:2009-02-08-11-22-45&Itemid=417
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
17 ธ.ค. 55 22:39:27
|
|
|
|