“ช้อปแค่คลิก” โอกาสธุรกิจปี(งู)พลิ้ว
|
|
วันที่ 17 ธันวาคม 2555 09:00 โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปฏิทินเอสเอ็มอี ขยับเข้าสู่ปี56 งูเล็กสุดพลิ้ว เลี้อยตามสัญญาณ3G กลายเป็นโอกาสดิจิทัล คอมเมิร์ซ ที่เอสเอ็มอีต้อง“ปิดการขาย"เพียงแค่ "คลิก"
มีสัญญาณมากมาย ที่บ่งว่าปี 2556 คือโอกาสทองของตลาด “ดิจิทัล คอมเมิร์ซ” อาทิ ตัวเลข “ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์” ในไทยที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ถึงปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ยอดจดทะเบียนอีคอมเมิร์ซในไทยจนถึงกลางปี 2555 มี “เกือบหมื่นเว็บไซต์”
ปัจจุบันประเทศไทยยังมีพลเมืองอินเทอร์เน็ต กว่า 20 ล้านคน (หนึ่งในสามเมื่อเทียบจำนวนประชากร 64 ล้านคน) นอกจากนี้ถ้ามองการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 3 ปีจากนี้ Internet world stats 2012 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้รวมกันถึงประมาณ 156 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 10 ประเทศในอาเซียนเกือบ 600 ล้านคน หย่อนหนึ่งในสามของจำนวนประชากรอาเซียนไปไม่มาก
ปัจจุบันบ้านเรายังมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 10 ล้านเครื่อง (หนึ่งในหกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร) ถือเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อ ที่สำคัญจำนวนผู้ใช้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ราคาสมาร์ทโฟนจะถูกลงเรื่อยๆ
“สมาร์ทโฟน” จึงกลายเป็นเครื่องมือ (tool) ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน
โดยเฉพาะการมาถึงของ 3 G ในปี 2556 จะทำให้ตลาด "โมบาย คอนเทนท์" มีสีสันอย่างยิ่ง ประสิทธิภาพของข้อมูลผ่านระบบ 3.0 ที่รวดเร็ว ฉับไว กลายเป็นโอกาสทองของ “โมบาย คอมเมิร์ซ” ตามติดกระแสด้วยอีคอมเมิร์ซและชอปปิงออนไลน์ ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นๆ
มีห้างสรรพสินค้าออนไลน์ แหล่งชอปปิงออนไลน์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาบนโลกออนไลน์เติบโตสูงขึ้น
ในฟากของผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นเคย และเชื่อมั่นกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ที่สะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า และครบครันกับหลากหลายช่องทางการจ่ายเงิน เรื่องยากๆจะกลายเป็นเรื่องกล้วยๆรับไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคนี้
เพียงแค่คลิก ก็พลิกโลก !
ขณะที่ผู้ประกอบการจะกล้าจัดหนัก จัดเต็ม กับสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งในตัวระบบ คนทำงาน ตลอดจนเม็ดเงินด้านการตลาด เพราะเห็นโอกาสเติบโตจากเหตุผลข้างต้น
ไปพบกรณีตัวอย่างของผู้ทำตลาดดิจิทัลคอมเมิรซ์ที่ประสบความสำเร็จว่าพวกเขากล้าท้าชนช่องทางการตลาดนี้และเอาชนะมันได้อย่างไร เม็ดเงินนับ 10 ล้านบาท คือตัวเลขที่ “ณัชชารีย์ ศรีโรจนพงศ์” กรรมการผู้จัดการและเจ้าของ เว็บไซต์ www.symbolsofstyle.comทุ่มให้กับแหล่งชอปปิงออนไลน์น้องใหม่ ที่หลายคนเรียกติดปากว่า “SOS” เป็นการผนวกระหว่างนิตยสารออนไลน์ เข้ากับ อีคอมเมิร์ซ ที่กำลังสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับเขา
ใครจะคิดว่าจะเปิดเว็บไซต์ดีๆ สักเว็บไซต์ต้อง “จัดหนัก” ขนาดนี้ ไม่ต่างจากการลงทุนทำห้างสรรพสินค้าในโลกออฟไลน์ เธอว่า
“ที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ก็เหมือนกับทำห้างออนไลน์ขึ้นมานั่นแหละ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป เขาลงทุนเป็นตัวตึก แต่ของเราลงทุนในสิ่งที่มองไม่เห็น ลูกค้าอาจเห็นแค่หน้าเว็บไซต์ แต่จริงๆ มันมีระบบอยู่เบื้องหลัง มีคนทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งทุกอย่างล้วนต้องลงทุน”
เม็ดเงินมหาศาลถูกทุ่มไปกับการพัฒนาระบบให้แข็งแกร่ง และเลือกใช้ทีมงานซึ่งล้วนเป็นมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ หลายคนคือบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นระดับโลก ออกสตาร์ทจาก “มาตรฐานสูง” ขนาดนี้ก็เพื่อ ให้ได้คุณภาพคับกล่องตั้งแต่คอนเทนท์ในเว็บไซต์ไปจนระบบที่รองรับการซื้อขายออนไลน์ได้อย่างไม่ติดขัด โดยมีเว็บไซต์มาตรฐานสากลในต่างประเทศเป็นต้นแบบ
ใครลองเข้าไปในเว็บไซต์ “SOS” ก็จะพบกับหน้าตาของแมกกาซีนออนไลน์ที่ดูอินเตอร์ กับการจัดเรียงหน้าเว็บไซต์ที่ไม่อัดแน่น รูปภาพสินค้าก็สวยดูดีมีมูลค่า ควรค่ากับการเป็นสินค้าแฟชั่นราคาแพงไม่ใช่ของถูก
“เว็บไซต์ SOS ไม่ได้ทำขึ้นมา เพื่อลด แลก แจก แถม บอกไว้เลยว่าเราไม่ใช่ของถูก แต่ให้ความรู้ลูกค้า ให้บริการที่ดี มีโปรโมชันที่ดีให้ คอนเซปต์ คือ การเป็น Online shop power magazine ไอเดียมาจากการที่เราอ่านแมกกาซีนทั่วไป เห็นสินค้าแล้วชอบ ปกติก็ต้องวิ่งไปที่หน้าร้าน แต่ในนี้ลูกค้าสามารถคลิกซื้อได้ทันที”
เราเลยได้เห็นแบรนด์ชั้นนำ ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ SOS ส่วนหนึ่งเป็นแบรนด์ต่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่งคือผลงานของเหล่าดีไซเนอร์ไทย การหารายได้ของ SOS นอกจากเม็ดเงินจากโฆษณาที่มาปรากฏบนเว็บไซต์ ยังรวมถึงการหักส่วนแบ่งจากแบรนด์สินค้า 30% ทันทีที่ขายได้ และไม่มีค่าเช่าพื้นที่ฝากขาย เรียกว่า วิน-วินกันทั้งคู่
ใครจะคิดว่าเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายนปี 2555 พวกเขาจะสามารถขยับฐานลูกค้าจากแค่ไม่กี่ร้อยราย ขึ้นมาเป็น 5 หมื่นราย ได้ในเวลาไม่ถึงปี
ที่สำคัญ 10% ของฐานลูกค้า คือ ผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้า เม็ดเงินใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ 1-2 หมื่นบาท ทำให้รายได้จนถึงสิ้นปีนี้น่าจะได้ตามเป้าที่ 50 ล้านบาท !
“ลูกค้าจะเป็นคนที่ชอบชอปปิ้ง วัยประมาณ 25-35 ปี สูงสุด 40 ปีก็ยังมี รายได้คนกลุ่มนี้อยู่ที่เฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อเดือน”
เหตุผลที่ทำให้ภาพนี้เกิดขึ้น คงไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วลูกค้าจะวิ่งเข้าหา คนที่เคยทำอีคอมเมิร์ซต่างก็รู้ดีว่ามันไม่ง่ายต้องอาศัยสารพัดวิธีในการเดินเกมตลาด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ลูกค้า มากกว่าแค่การขาย
ดังนั้นจึงต้องเต็มที่กับการพัฒนาเว็บไซต์ และคอนเทนท์ให้ดึงดูด และใช้ง่าย ของต้องดูดี น่าซื้อ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเจาะตลาดทั่วโลก สกรีนแต่ของดี มีคุณภาพ และเจ้าของแบรนด์ต้องมีสินค้าให้ตลอด ไม่ผิดสัญญากับลูกค้าให้เกิดเสียหาย หรือผิดหวัง มีบริการที่ดีทั้งก่อนและหลังการขาย เลือกใช้บริษัทจัดส่งสินค้าที่ไว้วางใจได้ ขณะที่การทำโปรโมชันไม่ต่างจากลูกค้าบัตรเครดิต คือ ทุกๆ การใช้จ่ายจะมี “คะแนนสะสม” ใช้เป็นแต้มไว้ซื้อสินค้าและรับของกำนัล
หลายคนกลัวการใช้บัตรเครดิต ก็จะเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่ครบครัน อย่างโอนเงินผ่านธนาคาร สั่งของแล้วไปเก็บเงินที่บ้าน ผ่านระบบ เพย์พาว เพย์สบาย จ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส เรียกว่าเปิดให้ครบเพื่อเพิ่มความมั่นใจและสะดวกสบายให้กับลูกค้า
กลยุทธ์การตลาดก็หาสารพัดวิธีช่วย เรียกว่าบูรณาการทุกช่องทางที่มี เช่น ใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ค , อินสตราแกรม ดึงลูกค้าที่เห็นสินค้า มาช่วยกันเมนท์ ช่วยกันแชร์ และนำพาเข้ามารู้จักเว็บไซต์ของพวกเธอ การใช้อีมาร์เก็ตติ้ง อย่าง เซิร์สเอ็นจิ้น ใช้พลังของบล็อกเกอร์ การโฆษณาออนไลน์ โดยเลือกเว็บไซต์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงถ้าจะไปเจาะลูกค้าประเทศไหน ก็จะศึกษาประเทศนั้นก่อนทำการตลาดออนไลน์ ควบคู่ไปกับเม็ดเงินกระตุ้นตลาดออฟไลน์ เพื่อให้ผู้คนเข้ามาใช้เว็บไซต์ออนไลน์ชอปปิ้งกันมากขึ้น รวมไปถึงการพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์และดีไซเนอร์ เพื่อให้ผลิตคอลเลคชั่นพิเศษ สำหรับขายใน SOS เท่านั้น !
“การจะใช้ช่องทางนี้ให้ประสบความสำเร็จ ต้องดูว่าสินค้าเรามีตลาดหรือไม่ มีความเด่นในตัวสินค้าหรือไม่ โอเคถ้าสินค้าเราแพงแต่มีความแตกต่าง เป็นคอลเลคชั่นพิเศษ หาซื้อที่ไหนไม่ได้ คุณก็จะขายได้ และถ้าจะขายของแมส ก็ต้องราคาถูก ช่องทางนี้ บางคนคิดว่าถูก แต่ถ้าจะให้เวิร์คจริงก็ต้องลงทุน อย่างเว็บใหญ่ๆ เขาลงทุนเป็นร้อยล้านบาท”
นอกจากการลงทุนแบบจัดหนักแล้ว ยังต้องรู้จักศึกษาจากต้นแบบ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรู้จักรวมกลุ่มกัน แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก็จะไปได้ไกลและเร็วกว่านี้ เช่นเดียวกับมุมมองของ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อุ๊คบี ผู้นำช่องทางการนำเสนอสิ่งตีพิมพ์ดิจิทัล และตลาด e-book ที่ใช้เวลาไม่ถึงสองปีธุรกิจก็เติบโตมีรายได้ร่วมร้อยล้านบาท กินส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดอีบุ๊คประเทศไทยในวันนี้ และกำลังสยายปีกไปในอาเซียน
“การจะทำเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ เราต้องมีกลุ่ม มีชุมชน แล้วให้คนที่ทำสำเร็จมาเป็นพี่เลี้ยง เพราะเทคโนโลยีอย่างเดียวกินไม่ได้ แต่ต้องทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาด้วย บริษัทจึงจะสามารถอยู่ได้ เมืองไทยไม่ได้เหมือนต่างประเทศที่ตลาดเขาใหญ่มากๆ ออกโปรดักท์อะไรมาก็กระจายไปทั่วโลก แต่ไทยถ้าเราตั้งเป้าแค่ในประเทศตลาดมันเล็กมาก วิธีการหารายได้จึงต้อง Innovative มากกว่าแค่การไปขายของชิ้นเล็กๆ ซึ่งเหล่านี้สร้างได้จากการแบ่งปันประสบการณ์กัน”
คิดให้มีนวัตกรรม และทำให้โลกดิจิทัล คอมเมิร์ซ เป็นได้มากกว่าแค่หน้าร้านขายสินค้า แต่คือ ช่องทางในการเก็บข้อมูลลูกค้า จนสามารถ “รู้จิต รู้ใจ” และให้บริการที่เรียกว่าพิเศษเป็นรายบุคคลได้ สามารถนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ CRM และต่อยอดเป็นโอกาสธุรกิจไม่รู้จบ
“ดร.วรรพรรณ เรืองผกา” อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกตัวอย่างบริการของ “อเมซอน” (Amazon) ธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และยังคงสร้างความจงรักภักดีให้กับลูกค้ามหาศาลในวันนี้
อเมซอนเกิดมาพร้อม Business Model ใหม่ เปลี่ยนจากร้านหนังสือเดิมๆ ที่ต้องเข้าไปเหยียบย่ำ มารวมทุกอย่างไว้ในโลกออนไลน์ ซึ่งเหตุผลที่อเมซอนอยู่มาได้นาน และมีลูกค้าที่จงรักภักดีมากขนาดนี้ ก็เพราะการมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา พยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญคือใช้อินเทอร์เน็ต เก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อกลับไปพัฒนาธุรกิจของพวกเขา
เช่น ใช้ระบบ clickstream analysis เก็บข้อมูลลูกค้าที่ได้จากการคลิกบนหน้าจอ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับกลยุทธ์ธุรกิจในวันนี้
“เขาปรับตัวตลอดเวลา จากแค่ร้านขายหนังสือ ยังไม่มีหน้าให้คลิกดูข้างใน ก็กลายเป็นคอนเทนต์ของหนังสือให้ดูข้างในได้ สักพักก็เริ่มมีให้คนทั่วไปเข้าไปเป็นผู้ขายด้วย เริ่มมีปุ่ม “wishlist” ที่ลูกค้าเข้าไปเจอของสักอย่างที่ชอบ แต่ยังไม่มีเงิน แต่อยากได้ ถ้าต้องค้นหาใหม่ก็เสียเวลา แบบนั้นก็ขอคลิก wish ไว้ก่อน ลูกค้าก็แค่กลับไปดูเมนู wishlist ของตัวเอง ก็มีของที่อยากได้ขึ้นมาเต็มไปหมด ซึ่งตอนนี้อเมซอนก็เอาฟีเจอร์ตัวนี้ไปเชื่อมกับเฟซบุ๊ค เขาคุยไว้ว่า ถ้าอยากรู้ใจใคร จะได้ซื้อของขวัญให้ถูกใจ ก็ให้โหลดอเมซอนเอาไว้”
ไม่ต้องไปนั่งอ่านใจ ไม่ต้องไปถามหมอดู แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีให้เราได้ ที่สำคัญยังมาเชื่อมกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ กลายเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างลูกค้าที่นั่งอยู่หน้าจอ และร้านค้าในเว็บไซต์
“ข้อมูลที่เขาเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ สามารถนำไปวิเคราะห์ และกลับมาทำการตลาด CRM ต่อได้ เรียกว่า ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นรายบุคคลได้เลย”
อีเมลจากอเมซอน ที่ส่งกลับมายังลูกค้าคนพิเศษของพวกเขา รู้กระทั่งว่าลูกค้าคนนี้กำลังสนใจหนังสือเล่มไหนกำลังมองหาอะไรอยู่ ที่สำคัญส่งมาพร้อมคูปองส่วนลด ถามว่าแล้วใครจะไม่ซื้อ นี่คือการส่งเสริมการขายเป็นรายคน ไม่ใช่ระบบเหวี่ยงแหกับปลาเป็นฝูงอีกต่อไป
“อีคอมเมิร์ซ ทำให้เราสามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้มากขึ้น” เธอบอก
เช่นเดียวกับที่ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ได้ไอเดียไปพัฒนาสินค้า เพื่อรับความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาดและหลายโปรดักท์ที่มาจากไอเดียลูกค้าก็ยิ่งเพิ่มระดับความพึงพอใจและความจงรักภักดีให้กับลูกค้า มากขึ้นด้วย
ความจริงใจและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการยิ่งช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างนโยบายการให้ “คืนสินค้า” ของหลายเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น “วอลล์มาร์ท” ที่ให้โอกาสถึง 3 เดือน เช่นเดียวกับการเลือกมืออาชีพในการขนส่ง ที่มีการประกันการขนส่งสินค้า ซึ่งถ้าได้รับความเสียหาย ก็ไม่ต้องเหนื่อยใจว่าจะไม่มีใครรับผิดชอบ
รวมถึงการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง สนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งระบบการจ่ายเงิน ที่มั่นใจตรวจสอบได้ เรียกว่า คุ้มครองทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย การมีระบบเครือข่ายการสื่อสารที่เสถียร เรื่องความเร็วและคุณภาพของสัญญาณ เหล่านี้ คือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศเติบโต
ทว่ายังคงต้องพัฒนาอีกมากในไทย !
“จำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตของเรายังน้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ และคนก็ยังกลัวการใช้บัตรเครดิตออนไลน์ ว่าจะมีคนขโมยข้อมูลเราไปใช้หรือเปล่า ขณะที่กฎหมาย เอาเฉพาะเรื่องเครดิตการ์ดที่ป้องกันผู้ค้าหรือผู้บริโภค ก็ยังไม่มี เท่านี้ก็จบแล้ว อีคอมเมิร์ซบ้านเราไม่มีทางโตเลยถ้ายังมีอุปสรรคเรื่องพวกนี้”
นี่ยังไม่รวมกับการออกแบบเว็บไซต์ ที่เธอบอกว่า เว็บส่วนใหญ่ยังใช้งานยาก เรียกว่า กว่าจะซื้อสินค้าได้จบกระบวนการยังยากเย็น ขณะที่บางเว็บไซต์ในต่างประเทศเขามีขนาด “One-Click Payments”
คลิก ! เดียวเอาอยู่ กันแล้ว
“ถ้าเจอสิ่งที่ต้องการแทนที่จะหยอดลงตะกร้าชอปปิง แล้วไปทำอีกหลายขั้นตอน เขาก็มีตัวนี้ให้ เพื่อคลิกซื้อได้ทันที เพราะเก็บข้อมูลเครดิตการ์ดไว้กับเขาแล้ว และลูกค้าก็เชื่อมั่นว่าข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ที่ผู้ให้บริการ จะปลอดภัย ไว้ใจได้ มีปัญหาก็มีคนรับผิดชอบ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ในต่างประเทศเขาประสบความสำเร็จมากกับอีคอมเมิร์ซ”
เธอบอกว่า เรื่องพวกนี้อาจต้องอาศัยเวลา แต่แนวโน้มธุรกิจนี้เติบโตขึ้นแน่นอน
“อย่างในอเมริกา เม็ดเงินที่อยู่ในอีคอมเมิร์ซเขาโตกว่าตลาดออฟไลน์ด้วยซ้ำ ผู้ประกอบการในบ้านเราเอง ยังเห็นโอกาส แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ การดีไซน์เว็บให้ ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทำอย่างไรให้ลูกค้ามั่นใจว่าเราจะรักษาความลับของลูกค้าไว้ได้ รวมถึงมีอะไรที่เป็น Business Model ใหม่ๆ โดยกลุ่มสินค้าดิจิทัลทั้งหลาย ที่สามารถดาวน์โหลดได้หรือบริการแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ใช้ศักยภาพของสื่อออนไลน์ได้อย่างแท้จริง ยังมีโอกาส”
เธอยกตัวอย่างเว็บไซต์ร้านแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกา “4Food” ที่สามารถทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว จากการมีหน้าร้านเล็กๆ หนึ่งร้าน มีความคิดอยากขายแฮมเบอร์เกอร์รูปแบบใหม่ และต้องการทำให้เป็นที่รู้จัก เพราะคู่แข่งในย่านเดียวกันที่มีอยู่กว่า 300 ร้านค้า เรียกว่าเปิดมาถ้าไม่อร่อยจริงไม่มีทางเกิด
“เขาก็หาวิธีแจ้งเกิด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยที่ในร้านจะมีอินเทอร์เน็ตไวไฟให้ลูกค้าใช้ฟรี เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้านก็ไม่ต้องสั่งกับพนักงาน แต่สามารถเข้าไปหน้าเว็บไซต์หลัก แล้วดีไซน์เมนูได้ตามที่ต้องการ เป็นเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง จากนั้นก็กดส่งเพื่อให้ในครัวทำให้ ซึ่งเมนูที่คิดขึ้น ถ้ากลายเป็นเมนูแนะนำของที่ร้าน มีลูกค้าคนอื่นมาสั่ง ก็จะได้เครดิตสโตร์ 25% และเขายังไปผูกกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยให้คนได้อัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊ค แชร์ผ่านทวิตเตอร์ มีเพื่อนมากดไลค์แล้วแชร์กันไปจนกลายเป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็ว โดยที่เจ้าของร้านไม่ต้องเหนื่อยเลย เขามีทั้งหน้าร้านและเว็บไซต์ นำสองส่วนมาบูรณาการกัน โดยใช้เทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซและโซเชียลเน็ตเวิร์คกิ้ง ทำให้ธุรกิจเกิดได้ในพริบตา”
สารพัดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่พร้อมเกิดได้ เพียงใช้ความคิด อยู่ที่เอสเอ็มอียอมที่จะศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจังแค่ไหน เริ่มจากมองปัญหาที่มี โอกาสที่พบเจอ ดูต้นแบบคนทำสำเร็จ แล้วค่อยๆ ปรับให้เหมาะกับธุรกิจและศักยภาพของตัวเอง โดยที่เป้าหมายอาจมาจากแค่วิธีคิดพื้นๆ ง่ายๆ เหมือนที่อาจารย์ วรรพรรณ บอกว่า..
“แค่ให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบาย และยิ้มได้มากขึ้นทุกวัน..ก็พอแล้ว” ..............................
อาเซียน..อีคอมเมิร์ซ
“AEC” กลายเป็นวลีทองแห่งปี 2555 ใครๆ ก็พูดถึงการเปิดประตูสู่อาเซียนกันทั้งนั้น สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ พวกเขาเห็นโอกาสไม่ต่างกัน จากจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรวมในอาเซียนประมาณ 156 ล้านคน และยังมีช่องที่จะเติบโตได้อีกมาก
“ทรงยศ คันธมานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์แพลนเน็ต เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ก่อตั้งและพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูปแห่งแรกของไทย และเจ้าของเว็บไซต์รับจดโดเมนเนมรายใหญ่ บอกว่า ความน่าสนใจของอีคอมเมิร์ซในเออีซี คือ จำนวนประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
“ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโต เพราะฉะนั้นก็เป็นโอกาสที่จะขายของได้มากขึ้น”
แต่ปัญหาและอุปสรรคก็มีให้เรียนรู้ อย่างที่บอกต่อกันมาว่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นสองประเทศในเออีซี ที่มีการโกงผ่านบัตรเครดิตสูงสุด ก็ต้องมองหาระบบการชำระเงินที่ดี หรือมองหาผู้ให้บริการที่มั่นใจปลอดภัยได้เข้ามาช่วย เพื่อคุ้มครองทั้งผู้ซื้อผู้ขาย ขณะที่ผู้ขายเองก็ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขายทั้งหมดไว้ เพื่อใช้ยืนยันความบริสุทธิ์เมื่อถูกโกง!
“ธวัลรัตน์ เศรษฐาจินดา” ผู้ก่อตั้งไทยแอคทิวิตี้ (www.thaiactivity.com) บริษัทท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เปิดให้บริการมาเกือบ 10 ปี แบ่งปันมุมคิดว่า..
“ร้านค้าออนไลน์ เมื่อเปิดตัวเองไปสู่ภายนอก ถ้าลูกค้าต่างชาติเขาเล่นไม่ซื่อ เราจะไล่บี้เขาอย่างไร ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องเก็บหลักฐานการ ซื้อ-ขายไว้ ทุกอย่างต้องรัดกุม และพิสูจน์ได้หมด เราต้องระมัดระวังให้มากขึ้น”
ส่วนสินค้าแบบไหนจะเหมาะกับตลาดอาเซียน ก็อยู่ที่การลงไปศึกษาประเทศนั้นอย่างจริงๆ จังๆ “สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี” ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เพย์สบาย จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของไทย ยกตัวอย่างประเทศที่สิ่งแวดล้อมคล้ายๆ ไทย อย่าง “มาเลเซีย” ที่พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงมาก โดยกระโดดจาก ประมาณ 18,000 ล้านบาท ในปี 2551 ขึ้นมาเป็น ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2553
คนมาเลเซีย ซื้อของจากเว็บไซต์ในประเทศมากที่สุด 45% ส่วน 35% ซื้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภคจึงค่อนข้างเปิดกว้างในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ กลุ่มท่องเที่ยว รองลงมาคือการจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ และกลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ไลฟ์สไตล์
ขณะที่บ้านเราอันดับหนึ่งกินขาด ยังเป็น “กลุ่มสินค้าแฟชั่น”
ส่วนในตลาดโลก สินค้ายอดนิยมในตลาดออนไลน์ทั่วโลก อันดับหนึ่งคือ “เสื้อผ้าแฟชั่น” รองลงมาคือ “หนังสือ” ขณะที่ “ผลิตภัณฑ์ เฮลธ์แอนด์บิวตี้” ตามมาเป็นที่ 3
“ให้ดูที่อันดับ 1 และ 3 ที่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าและสินค้าบิวตี้ ซึ่งบ้านเราถือว่าเป็นแหล่งผลิตชั้นนำเลย แล้ววันนี้เรานำสินค้ากลุ่มนี้มาสู่ออนไลน์ได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญไม่ได้มีแค่ 10 ประเทศอาเซียนที่เป็นโอกาส แต่คือลูกค้าทั่วโลก”
พวกเขาสรุปตรงกันว่า การทำอีคอมเมิร์ซ ก็เหมือนกับตั้งบริษัทดีๆ ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง ฉะนั้นการที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้เวลา ต้องตั้งใจจริง และศึกษาอย่างเต็มที่ มีเทคนิคให้เรียนรู้มากมาย อยู่ที่ต้องเข้ามาเรียนรู้ ตลอดจนประเมิน และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าทำได้ ธุรกิจนี้ก็มีแววรุ่ง
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ธ.ค. 55 09:10:27
|
|
|
|