ซี. ซี. เอส. แอดวานซ์เทค สูตรติดปีกทายาทสานธุรกิจ
|
|
วันที่ 19 ธันวาคม 2555 01:00 โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“บุญเจริญ มโนบูรชัยเลิศ” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซี. ซี. เอส. แอดวานซ์เทค จำกัด
คงน่าเสียดายถ้าธุรกิจที่สร้างมาอย่างยากลำบากจะอยู่ได้แค่คนหนึ่งรุ่น ลองดูวิธีคิดส่งมอบธุรกิจแบบฉบับ “ซี. ซี. เอส. แอดวานซ์เทค”
“ธุรกิจส่วนใหญ่ คุณปู่ทำดี คุณพ่อทำเลว คุณหลานทำเจ๊ง ผมคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรเมื่อวันที่ผมตาย ธุรกิจจะไม่ตายตามไปด้วย เพราะจะเห็นแก่ตัวมาก ที่ทำธุรกิจได้แค่หนึ่งชั่วอายุคน แล้วปล่อยให้ธุรกิจต้องตายตามผู้ก่อตั้ง โดยที่ยังมีลูกๆ อยู่ข้างหลังเยอะมาก”
“บุญเจริญ มโนบูรชัยเลิศ” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซี. ซี. เอส. แอดวานซ์เทค จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อากาศยาน เครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร บอกถึงความท้าทาย ในการวางแผนส่งมอบธุรกิจ ในวันที่ควงคู่ทายาท “เกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ” มาแบ่งปันวิธีคิดเชื่อมต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ณ เวทีเสวนา STEP Asia Pacific Summit 2012 เสริมองค์ความรู้วิสาหกิจครอบครัวไทย จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ Babson College ที่ผ่านมา
“บุญเจริญ” คือนักสู้ชีวิต เขาก่อตั้งธุรกิจมาด้วยสองมือ เติบโตมาแบบปากกัดตีนถีบ แน่นอนว่าคงไม่เหมือนลูกๆ ที่สุขสบายมากกว่าคนรุ่นเขา “ผมมาจากครอบครัวที่ยากจน ทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่อายุ 15 จนถึง 24 ปี ระหว่างทำงานผมพยายามเรียนหนังสือเวลากลางคืน ผมเลือกเรียนภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าจะทำให้ผมสามารถต่อสู้ในเวทีโลกได้และได้เปรียบคนอื่น”
เขาบอกถึงการให้ความสำคัญกับทักษะด้านภาษา และยังคงสืบทอดวิธีคิดนี้มายังทายาทของเขา โดยส่งลูกชายไปเรียนที่อเมริกา ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น เพื่อให้มีทักษะทั้ง ภาษาอังกฤษ จีนและญี่ปุ่น เป็นต้นทุนในการทำงาน
ชีวิตลูกจ้างของบุญเจริญ เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ดูเอาว่าเขาผ่านงานอะไรมาบ้าง ใน 2 ปี แรก ทำงานอยู่ร้านเพชร อีก 4 ปี ก็ฝึกวิชาที่ร้านขายยา ก่อนที่ 3 ปี สุดท้ายในชีวิตลูกจ้าง จะย้ายมาทำงานร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า
เรียกว่าเรียนรู้งานลูกจ้างอย่างเต็มที่ ก่อนจะโบกมือลา มาเป็นผู้ประกอบการเต็มขั้น วิธีคิดในตอนนั้นก็แค่..
“ผมไม่มีอะไรจะเสีย เพราะชีวิตนี้เริ่มจากศูนย์ ถ้าทำธุรกิจไม่สำเร็จ ก็แค่กลับไปเป็นลูกจ้างอีกครั้งเท่านั้น”
บุญเจริญบอกความกล้าหาญของเขา ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรติดตัวเลย นอกจากต้นทุนอย่าง “ความตั้งใจ” และ “พยายาม” “ทุกธุรกิจในโลกนี้ต้องเริ่มจากเล็ก อย่าเริ่มจากใหญ่ไปหาเล็ก แต่ต้องเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ แม้จะไม่มีทุน แต่ก็ขอให้มีความพยายาม มีความตั้งใจเท่านั้น” เขาบอกจุดเริ่มต้น
ภาพสะท้อนของความพยายามและความตั้งใจ คือการไม่ปฏิเสธงานยากหรือไม่เคยทำมาก่อน อย่างเช่นกันปรับตัวจากธุรกิจซื้อมาขายไป มาลองทำโรงกลึงทั้งที่ไม่มีความรู้มาก่อน เพียงเพราะไม่เคยปฏิเสธคำร้องขอจากลูกค้า
“ลูกค้าบอกให้เราทำงานกลึง งานเชื่อมโลหะ ผมไม่เคยมีความรู้ด้านนี้เลย แต่เพราะผมไม่มีอะไรที่จะทำให้ครอบครัวอยู่รอดได้ ถ้าผมไม่ทำงาน ก็เลยบอกเขาว่า..ทำได้ครับ”
แล้วการตอบรับจากลูกค้าในวันนั้น ก็ปูทางสู่ธุรกิจในวันนี้ เมื่อเขาเริ่มจากหาโรงกลึงให้ผลิตของให้ งานตัดเชื่อมโลหะ ก็หาช่างทำให้ จนธุรกิจเติบโตขึ้น มามียอดขายกว่า 1 ล้านบาท ต่อเดือน (เมื่อ 20 ปี ที่แล้ว) เขาจึงเริ่มซื้อเครื่องจักรมา 1 ตัว และมีช่างอยู่หนึ่งคน เพื่อใช้แก้ไขงานที่ลูกค้าปฏิเสธมา จนทำให้ส่งงานลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น ก่อนขยายเพิ่มมาเป็น 7 ตัว จนกระทั่งต้องสร้างโรงงานใหม่ และเติบโตจากพนักงานแค่ 200 คน เมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท
ทว่าปัจจุบัน พวกเขามีพนักงานเพิ่มเป็น 1,000 คน ยอดขายอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ต่อปีแล้ว
“ผมทำธุรกิจ เริ่มต้นจากลูกค้าให้ทำอะไรก็ทำให้เขา และค่อยๆ พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ โดยที่ปรัชญาในการทำงานก็คือ ต้องมีวิสัยทัศน์ มีความขยันหมั่นเพียร อดทน ต้องประหยัด ไม่ใช้เงินแบบมือเติบ และต้องมีวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด ที่สำคัญต้องรู้จักบุญคุณของคนที่ช่วยเหลือเรา”
เหตุผลเหล่านี้นำมาสู่การเจริญเติบโตของบริษัท ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อากาศยาน เครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร ที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะงานอากาศยาน ที่พวกเขาพัฒนาจากการทำชิ้นส่วนให้กับเครื่องบิน มาสู่การซ่อมล้อ ซ่อมปีกเครื่องบิน ให้กับการบินไทยมาแล้วหลายรุ่น
และน่าตื่นเต้นมากขึ้น เมื่อวันที่ลูกชายของเขา เข้ามาช่วยธุรกิจ คนหนุ่มไฟแรงและมีแผนจะลุยหนักกับงานวิจัยและพัฒนา เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของพวกเขาขึ้นมาเอง ไม่ต้องยึดติดอยู่กับการทำงานรับจ้างผลิตอีกต่อไป
“ผมอยู่เมืองนอกมา 13 ปี มาเริ่มงานเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา การสานต่อก็ค่อนข้างลำบาก แต่ด้วยหน้าที่ที่รับมาผมมองว่าจะสานต่อให้บริษัทมีความหลากหลายขึ้น ต่อไปคงไม่ได้ทำแค่งานอากาศยานเท่านั้น ในอนาคตผมต้องทำให้บริษัทขายได้มากขึ้น และก้าวหน้าไปกว่าเดิม โดยเน้นการทำวิจัยและพัฒนา มีผลิตภัณฑ์ของเราเองและขยายเครือข่ายไปทั่วโลก”
หลายอย่างที่พ่อสอนคือ “บทเรียนลัดธุรกิจ” อย่างปรัชญาในการทำงาน ที่ทำธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา และทำอย่างไรให้เหนือกว่าคนอื่น โดยที่ไม่มีการแข่งขัน
“มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง คือ คุณทำธุรกิจเพื่อแข่งขันแล้วชนะ แต่คุณแพ้สงคราม เพราะคุณจะไม่ได้อะไรเลย สำหรับผมเมื่อทำธุรกิจเราต้องมีกำไร หัวใจของการทำธุรกิจคือทำอย่างไรให้มีกำไรสูงสุด และมีต้นทุนที่ต่ำ เมื่อมีต้นทุนต่ำ มีกำไรสูงสุด ก็ต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ เขาก็จะอยู่กับเราไปตลอด นี่คือหัวใจ”
หรือแม้แต่การสอนให้เป็นนักเลงในธุรกิจ
“ลูกคนนี้ไม่เลวนะ เพียงแต่ไม่ก้าวร้าวเท่าคุณพ่อ จริงๆ ทำธุรกิจต้องเป็นนักเลงด้วย ถ้าทำแบบสงบเหงี่ยม หงิมๆ มันก็จะอยู่แค่นั้น จะไม่เติบโตไปมากมาย เราจึงต้องเป็นนักเลง แต่เป็นนักเลงในทางบวกและสร้างสรรค์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจบอก
รวมถึง การสอนให้ใช้ หูฟัง และตาดู มากกว่าพูด
“ผมบอกลูกว่า เรามีสองตา มีสองหู แต่มีปากๆ เดียว นั่นหมายความว่า ต้องดูและฟังมากกว่าพูด อย่าพูดก่อนแล้วค่อยคิด ให้คิดก่อนพูด และถ้าคิดว่ายังไม่แน่ใจ ก็อย่าพูด เพราะการพูดนั้นในบางครั้งอาจสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้
การส่งมอบธุรกิจจากพ่อไปหาลูก ในร้อยคนจะบรรลุได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ ผมก็แค่หวังว่าลูกชาย คงจะเชื่อฟังในสิ่งที่ผมสอนเขา และคงตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม”
เขาฝากความหวังไว้เช่นนั้น และย้ำกับลูกชายที่รับไม้ต่อว่า ขอให้เชื่อในสิ่งที่พ่อแนะ อาจจะต่อต้านแต่ก็ขอให้ต่อต้านในใจ อย่าแสดงออก ก็พ่อบอกแล้วว่า ให้ “ฟัง” และ “ดู” มากกว่าพูด
บทเรียนธุรกิจฉบับ “มโนบูรชัยเลิศ” ที่ออกแนวเด็ดขาดและบู๊อยู่พอตัว ครอบครัวไหนยังอยู่ในช่วงส่งไม้ต่อธุรกิจ พวกเขาบอกว่า ถ้าทายาทมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะเรียนรู้จริงแล้ว เรื่องส่งไม้ต่อธุรกิจก็ไม่มีอะไรยาก
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ธ.ค. 55 08:52:59
|
|
|
|