ความคืบหน้าโครงการทวาย ข่าวนี้หรือเปล่าทำให้ ITD ราคาไม่ลงไปต่ำกว่า 4 บาท รอเข้าซื้ออยู่
|
|
updated: 24 ธ.ค. 2555 เวลา 14:55:13 น.
คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง ?
รัฐบาลพม่ามีนโยบายเปิดประเทศและสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศพม่าที่มีอาณาเขตติดต่อกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างจีนและอินเดีย
ทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและกำลังจะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ น้ำมัน ฯลฯ ประเทศพม่าจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก สำหรับโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ที่ได้รับความสนใจจากทั้งรัฐบาลต่างชาติและนักลงทุนทั่วโลกได้แก่ โครงการทวาย (Dawei Development)
อันเป็นโครงการที่รัฐบาลพม่าถือว่าเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ของชาติ จึงมีการออกกฎหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อยกระดับจังหวัดทวายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone) และให้สิทธิประโยชน์หลาย ๆ อย่างแก่นักลงทุน
นอกเหนือจากนี้เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในโครงการทวาย ทั้งนี้ โครงการทวายมีโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการถนนจากโครงการทวายถึงชายแดนไทย-พม่า (บ้านพุน้ำร้อน) รวมระยะทาง 132 กิโลเมตร 2) โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย 3) โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าและสายส่งระยะเริ่มแรก เพื่อรองรับการก่อสร้างถนนและท่าเรือ
สำหรับการก่อสร้างโครงการทวายนั้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Italian-Thai Development Public Company Limited : ITD) ได้เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าวในนามบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัททวาย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (Dawei Development Company Limited : DDC) ภายใต้ขอบข่ายความตกลงระหว่างบริษัท ITD และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่าในปี 2553
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวายให้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ
แต่ผู้ที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวยังคงเป็น DDC บริษัทลูกของ ITD เช่นเดิม การที่รัฐบาลไทยเข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงการทวายดังกล่าวนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลไทยลงนามใน MOU กับรัฐบาลพม่า และยกระดับการสนับสนุนโครงการทวายให้เป็นความร่วมมือระหว่าง
รัฐต่อรัฐนั้น เป็นการสนับสนุนภาคเอกชนไทยตามหน้าที่ เนื่องจากโครงการทวายเป็นโครงการที่ใหญ่เกินกว่าเอกชนเพียงรายเดียวจะเข้าไปพัฒนาได้
ด้าน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้โครงการทวายเดินหน้าต่อไปได้ โดยรัฐบาลจะช่วยดูแลเรื่องเงื่อนไข กฎระเบียบการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับโครงการ รวมทั้งช่วยชักชวนนักลงทุน ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการ
ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่เข้าไปลงทุนแข่งกับเอกชน แต่อาจมีกรณีรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการทวาย โดยบริษัทร่วมทุนซึ่งอาจประกอบไปด้วยนักลงทุนภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ในส่วนโครงการถนนมอเตอร์เวย์เส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี บ้านพุน้ำร้อน เป็นโครงการที่อยู่ในแผนของรัฐบาลไทยที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งไปยังชายแดนนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงถึงแผนงานคร่าว ๆ ของโครงการทวาย ว่าลำดับถัดไป ทางเมียนมาร์คงจะไปสรุปในเรื่องรายละเอียดและความชัดเจนในเรื่องการจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าจะมีข้อเสนออย่างไร เพื่อเชิญชวนนักลงทุน รวมถึงสรุปภาพรวม และแผนการลงทุนทั้งหมด เชื่อว่าคงจะมีความคืบหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และคาดว่าเดือนเมษายน 2556 คงจะเห็นความชัดเจนที่จะพร้อมในการเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย และอาจจะมีการก่อสร้างบ้าง ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำงานของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ถือว่าเป็นความคืบหน้า
นายกรัฐมนตรียังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ไทยได้แจ้งกับทางเมียนมาร์ว่าฝ่ายไทยได้มีแผนที่จะเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ทวาย เพื่ออำนวยความสะดวกในส่วนของการให้ข้อมูลและการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
ปัจจุบันโครงการทวายดำเนินการล่าช้ากว่า 7-8 เดือนแล้ว โดยยังอยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างรัฐบาล เกี่ยวกับแผนความร่วมมือที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าลงนามใน MOU ว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
เมื่อได้ความชัดเจนของแผนความร่วมมือแล้ว ITD จึงจะลงนามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ จากนั้นถึงจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้
นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการเข้าไปลงทุนในโครงการทวายของรัฐบาล ทั้งนี้ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) มาระดมทุนไปลงทุนในโครงการทวาย โดยรัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นใน SPV เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน แต่จะถือต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อไม่ให้ SPV กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาถือหุ้นส่วนที่เหลือ
ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือการให้สถาบันการเงินต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาถือหุ้นด้วย เพื่อจะได้ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่บริษัทนำไปลงทุนในโครงการทวาย ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จากการที่ต้องลงทุนก่อสร้างหลายสิ่งทั้งท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ถนน และนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ โครงการทวายมีแผนต้องเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2556 เป็นต้นไป โดยตามแผนงานฉบับเดียวกันนี้กำหนดให้โครงการเฟสแรกต้องแล้วเสร็จภายในปี 2558
สำหรับโครงการเฟสแรกนี้ประกอบไปด้วย โครงการท่าเรือ โครงการถนน ไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น รวมไปถึงอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีการลงทุนในเฟสแรกด้วย
ประชาชาติธุรกิจ
จากคุณ |
:
oosuan
|
เขียนเมื่อ |
:
24 ธ.ค. 55 15:32:52
|
|
|
|