เล็งรีดภาษี11ธุรกิจ'สาธิต'ยันได้ประโยชน์ทุกฝ่าย/รับ3ปีสูญ1.8แสนล.
|
|
วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2012 เวลา 10:09 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : Big Stories
คลังแจงทันควันทางรายการ"นายกฯยิ่งลักษณ์พบประชาชน" โต้ลดภาษีเป็นธรรมได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เปิดตัวเลขกลุ่มเงินได้ขั้นแรก 1.5-3 แสนบาท ได้ลดภาระภาษีมากสุด 50.53% ขณะคนรวยเกิน 4 ล้านบาท ได้ลดแค่ไม่ถึง 6 % ยอมรับส่งผลเม็ดเงินรายได้ 3 ปีหด 1.81 แสนล้าน เตรียมไม้เด็ดกางแผนเล็งรีดภาษีทุกเม็ด 11 ธุรกิจได้อานิสงส์ คนมีกำลังซื้อทำยอดขายพุ่ง
การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา จุดประเด็นวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าเอื้อคนรวย จากการลดอัตราภาษีเงินได้ที่เกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป ลงจาก 37% เป็น 35% และรัฐสูญรายได้ส่วนนี้ไปปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐมีภาระจ่ายจากโครงการประชานิยมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง นั้น
ล่าสุด นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ไปบันทึกเทปเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคมแล้ว เพื่อเตรียมออกอากาศในช่วงรายการ"นายกฯยิ่งลักษณ์พบประชาชน"เช้าวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคมนี้แล้ว โดยได้แสดงแผนภาพข้อมูลประกอบอย่างละเอียด โดยยืนยันการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ เป็นธรรมได้ประโยชน์ทุกฝ่าย แม้รัฐจะสูญเม็ดเงินรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไป แต่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อและทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ทำให้สามารถเก็บภาษีจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ได้สูงขึ้นมาชดเชยได้
-ภาษีใหม่ไทยยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน
อธิบดีกรมสรรพากรย้ำว่า มีความจำเป็นของการปรับปรุงโครงสร้างภาษีดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างเดิมใช้มา 20 ปีเต็มแล้ว โดยอัตราใหม่จะบรรเทาภาระภาษี และสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งปิดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยง
หากเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมกับประเทศในกลุ่ม AEC ถือได้ว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย สูงเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 0-35% รองจากอันดับ 1 คือ ประเทศพม่า ที่เก็บในอัตรา 3-40% หรือใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่ 5-32% ,อินโดนีเซีย 5-30% เวียดนาม 0-30% ขณะที่ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทยมาก ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งเก็บที่ 0-28 % , ลาว 0 -28% กัมพูชา 5-20% และสิงคโปร์ 0-20% ขณะที่บรูไนไม่เก็บภาษีนี้เลย
-เล็งบี้ภาษี 11 กิจการส้มหล่นลดภาษี
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพากรแจงว่า มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่จะทำให้รายได้สุทธิของผู้เสียภาษีมีมากขึ้น เมื่อคนมีเม็ดเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้สามารถเก็บภาษีจากการใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ประเมินธุรกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มียอดขายดี มีอัตราขยายตัวสูง 11 กิจการ ซึ่งจะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1.ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่คาดจะขยายตัวได้ 12.24 % ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนในภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 28% 2.ธุรกิจบริการเช่าซื้อรถยนต์ ที่จะขยายตัวดีทั้งจากที่คนมีกำลังซื้อเพิ่มและจากโครงการรถคันแรก 3.กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง โดยของภาคเอกชนจะโต 10% ขณะที่ภาครัฐขยายตัว 16% , 4. กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม ก็จะเติบโตดีจากความคืบหน้าการลงทุนระบบ 3 จี 5.ธุรกิจกลุ่มระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้อง ก็มีการขยายตัวในแนวโน้มที่ดี 6.กลุ่มสุรา เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องดื่มชูกำลัง เติบโตได้ดี 7.กลุ่มสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารและประกันภัย ขยายตัวดี คาดการณ์ตัวเลขเติบโตของกลุ่มประกันภัยจะโตได้ถึง 15.2% 8.กลุ่มธุรกิจน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซ ก็ขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9.กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน โตได้ที่ 4 % ส่วนเขตที่เกิดอุทกภัยจะฟื้นตัวช้ากว่าบ้าง 10.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกกลุ่มที่ได้อานิสงส์ โตที่ 5.24% และ 11.กลุ่มเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องครัว ที่จะมีอัตราเติบโตถึง 39% จากกำลังซื้อของประชาชนที่ดีขึ้น
-รับ3ปีรายได้สูญ 1.8 แสนล้าน
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรรับว่า เมื่อประเมินภาระภาษีสูญเสีย จากมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การให้แยกยื่นภาษีของสามี-ภริยา และที่เกี่ยวกับภาษีคณะบุคคล ในช่วง 2555-2557 รวม 3 ปี จะสูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้น 1.81 แสนล้านบาท โดยสูญเสียจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมากที่สุดที่ คือ 5.25 หมื่นล้านบาท,7.5 หมื่นล้านบาท และ 2.25 หมื่นล้านบาท ในปี 2555-2557 ตามลำดับ ขณะที่การสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีผลในปี 2557 ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท การให้แยกยื่นรายการของสามี-ภริยา รัฐจะสูญรายได้ในปี 2556 เป็นเงิน 7 พันล้านบาท ส่วนระเบียบใหม่เกี่ยวกับคณะบุคคล จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท
พร้อมกันนี้กรมสรรพากรยังมีโอกาสหารายได้คืน รวม 1.186 หมื่นล้านบาท ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จากการที่คนมีกำลังซื้อและนำไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แยกเป็น จากนโยบายบ้านหลังแรก มีรายได้เพิ่มจากภาษีการให้กู้ยืมซื้อบ้าน จำนวน 600 ล้านบาท ขณะที่นโยบายรถยนต์คันแรก มีรายได้เพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มกลุ่มยานยนต์ จำนวน 2,000 ล้านบาท จากภาษีการให้สินเชื่อเพื่อซื้อรถ จำนวน 300 ล้านบาท จากภาษีกลุ่มยานยนต์ จำนวน 5,000 ล้านบาท และจากภาษีจดทะเบียนรถยนต์ จำนวน 300 ล้านบาท รวม 7,600 ล้านบาท
ขณะที่การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ช่วยสร้างเม็ดเงินรายได้เพิ่มจากภาษีจ่ายเงินปันผลที่มีการจ่ายเพิ่มขึ้น จำนวน 60 ล้านบาท ส่วนนโยบายใช้สิทธิ์ BOI ของธุรกิจน้ำมัน จากภาษีทบทวนให้สิทธิ์ Green Energy จำนวน 3,000 ล้านบาท และนโยบายบริหารจัดการน้ำ เงินกู้ 350,000 ล้านบาท จะเก็บภาษีได้จำนวน 600 ล้านบาท -เคลียร์ทุกปมลดภาษีเงินได้
ส่วนประเด็นวิจารณ์การปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อเสนอใหม่ ซึ่งจะมีผลในรอบภาษีเงินได้ปี 2556 ที่จะต้องยื่นแจ้งชำระภาษีในปี 2557 นั้น นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่า ทุกกลุ่มผู้เสียภาษีได้ประโยชน์ ทั้งในแง่ของการเปรียบเทียบบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างโครงสร้างแบบเดิมและข้อเสนอใหม่ หรือในแง่จำนวนเงินภาษีลด ลง โดยกลุ่มที่มีรายได้ 150,001-300,000 บาทต่อปี จำนวนเงินภาษีอยู่ที่ 7,500 บาทต่อปี หรือลดลง 7,500 บาทต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 15,000 บาทต่อปี, กลุ่มที่มีรายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี จำนวนเงินภาษีอยู่ที่ 37,500 บาทต่อปี หรือลดลง 12,500 บาทต่อปี จากเดิม 50,000 บาทต่อปี , กลุ่มที่มีรายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี จำนวนเงินภาษีอยู่ที่ 250,000 บาทต่อปี หรือลดลง 50,000 บาทต่อปี จากเดิม 300,000 บาทต่อปี และ 4,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป จำนวนเงินภาษีลดลงตามเงินได้ สุทธิ ขณะที่กลุ่มรายได้สุทธิ 0-150,000 บาทต่อปี ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ กลุ่มรายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี, 750,001-1,000,000 บาทต่อปี และ 2,000,001 – 4,000,000 บาทต่อปี จำนวนเงินภาษียังคงเท่าเดิมที่ 20,000 บาทต่อปี , 50,000 บาทต่อปี และ 600,000 บาทต่อปี หรือหากมองในแง่ภาระภาษีอัตราเดิมเทียบกับอัตราใหม่ กลุ่มเงินเดือน 15,000 บาท (180,000 บาทต่อปี) ยังได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้, กลุ่มเงินเดือน 30,000 บาท (360,000 บาทต่อปี) มีภาระภาษีใหม่อยู่ที่ 9,060 บาท ลดลง 7,500 บาทจากภาระภาษีเดิม 16,560 บาท หรือลดลง 45.29 %,กลุ่มเงินเดือน 100,000 บาท (1,200,000 บาทต่อปี) มีภาระภาษีใหม่อยู่ที่ 145,000 บาท ลดลง 26,100 บาท จากภาระภาษีเดิม 171,600 บาทหรือลดลง 15.21%, กลุ่มเงินเดือน 500,000 บาท (6,000,000 บาทต่อปี) มีภาระภาษีใหม่อยู่ที่ 1,633,500 บาทหรือลดลง 108,200 บาท จากภาระภาษีเดิม 1,741,700 บาท หรือลดลง 6.21%
นายสาธิต กล่าวอีกว่า ขณะที่ภาษีเฉลี่ยคำนวณจากแบบปี 2554 จริง จะพบว่า กลุ่มเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงมากที่สุดถึง 50.53% รองลงมาตามลำดับ คือ กลุ่มเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี ลดลง 31.91% ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี ลดลง 22.74% ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี ลดลง 18.71% , กลุ่มเงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี ลดลง 15.61% ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 2,000,001 – 4,000,000 บาทต่อปี ลดลง 10.72% และกลุ่มเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป ลดลง 5.98% หากรวมเงินได้สุทธิทั้งหมด คิดเป็นอัตราภาษีเฉลี่ยที่ลดลง 15.89%
อนึ่ง สถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุกลุ่มผู้เสียภาษีมากที่สุด จากโครงสร้างรายได้ภาษี คือ ผู้เสียภาษีที่อัตราสูงสุด 30% ขึ้นไป มีเพียง 1.76 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 1.78% ของผู้เสียภาษีทั้งหมด 10 ล้านคน หรือเป็นเม็ดเงินภาษีสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 67%
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2555) จัดเก็บรายได้สุทธิ 321,222 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 25,193 ล้านบาท หรือ 8.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.2% เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 กรม ที่สูงกว่าประมาณการ 32,457 ล้านบาท แต่การคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการ 8,350 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบผลการจัดเก็บรายภาษีในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าส่วนมากมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเมื่อปีก่อนได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,803 วันที่ 23-26 ธันวาคม พ.ศ. 2555
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
25 ธ.ค. 55 13:01:00
|
|
|
|