Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ใครได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษี vote ติดต่อทีมงาน

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2012 เวลา 23:18 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - คอลัมน์ : การเงิน-ตลาดทุน


มติประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ  โดยมีผลบังคับในปีภาษี 2556 ที่จะไปยื่นรายการในปี 2557

     โดยโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ได้กำหนดให้ถี่ขึ้นเป็น 7  อัตรา กำหนดสูงสุดที่อัตราร้อยละ 35 สำหรับเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป เทียบจากอัตราปัจจุบันที่ใช้อยู่ที่ร้อยละ 37  ขณะที่อัตราต่ำสุดกำหนดที่ร้อยละ 5 สำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-300,000 บาท เทียบอัตราปัจจุบันที่ร้อยละ 5 บนฐานเงินรายได้สุทธิที่  0-100,000 บาท ( ปัจจุบันกฎหมายยังยกเว้นภาษี สำหรับเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท )

   ผลของการปรับโครงภาษีเที่ยวนี้  ต้องถือว่าประชาชนผู้เสียภาษีทั่วประเทศ 10 ล้านคนได้ประโยชน์กันทั่วหน้า แลกกับการที่รัฐยอมหั่นรายได้เม็ดเงินภาษีลงถึง 27,000 ล้านบาท โดยหากมองตามจำนวนผู้เสียภาษี  กลุ่มผู้มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 1 บาท – 1 ล้านบาท  ซึ่งเสียอัตราภาษีใหม่ร้อยละ  5- 20 จะได้ประโยชน์รวมกว่า 9 ล้านคน  และเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐสัดส่วนรวมกันร้อยละ 32.5

   ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สุทธิ  1 ล้านบาทขึ้นไป  ได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีราว 90,000 คน- 1 แสนคน  แต่เป็นกลุ่มที่เสียภาษีให้รัฐรวมกันเป็นสัดส่วน ร้อยละ 68

   นอกจากนี้เมื่อแยกเฉพาะผู้เสียภาษีที่มีรายได้ระดับ 4 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35   ซึ่งทั้งระบบมีประมาณ 20,000 กว่าคน แต่เป็นผู้สร้างรายได้เข้ารัฐจากเม็ดเงินภาษีถึง ร้อยละ 37.56   เมื่อเทียบจากฐานรายได้ภาษีบุคคลธรรมดาทั้งระบบในปีงบ 2555 ที่ 276,091 ล้านบาท

   ส่วนผลประโยชน์จากเงินภาษีที่จ่ายน้อยลง  "ฐานเศรษฐกิจ " คำนวณจากผู้มีรายได้สุทธิทั้ง 7 กลุ่ม คือรายได้สุทธิ 300,000 บาท , 500,000 บาท ,750,000 บาท , 1 ล้านบาท , 2 ล้านบาท , 4 ล้านบาท และ 8 ล้านบาท ตามลำดับ   ตามโครงสร้างภาษีใหม่ พบว่าภาษีที่จ่ายจะลดลงเมื่อเทียบกับเงินได้สุทธิ อยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.50 -3.50  ดังนี้ ร้อยละ 2.5  , ร้อยละ 1.50 ,ร้อยละ 2.66 ,ร้อยละ 2.00 ,ร้อยละ 3.50 ,ร้อยละ 1.75 และร้อยละ 1.88 ตามลำดับ

     โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มผู้มีรายได้สุทธิ 2 ล้านบาท  ภาระภาษีจะลดลงเมื่อเทียบกับรายได้สุทธิถึงร้อยละ 3.50  รองมาคือ กลุ่มรายได้ 750,000 บาท ภาษีลดลงร้อยละ 2.66  และรายได้สุทธิที่ 300,000 บาท ภาษีลดลงร้อยละ 2.5

   ในแง่ของการประหยัดภาษีโดยเทียบกับภาระภาษีเดิมที่เคยจ่าย   ใน 7 กลุ่มรายได้ข้างต้น จะอยู่ที่ร้อยละ 50 , 21.43 , 23.55 , 14.81 , 16.09 , 6.76 และ 5.96  ตามลำดับ

   โดยผู้มีรายได้สุทธิ 300,000 บาท จะประหยัดภาษีลงได้มากสุดถึงร้อยละ 50 รองมาคือผู้มีรายได้ 750,000 บาท ประหยัดถึงร้อยละ 23.55  ขณะที่กลุ่มเศรษฐีระดับรายได้  8 ล้านบาทต่อปีกลับได้ประโยชน์น้อยสุดคือร้อยละ 5.96 เท่านั้น

   สอดคล้องกับการประเมินของกรมสรรพากร   นายสาธิต รังคสิริ อธิบดี  กล่าวกับ  ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากการคำนวณจากแบบภาษีปี 2554 จริง พบว่า กลุ่มเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี  อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงมากที่สุดถึง 50.53%  รองลงมาตามลำดับ คือ กลุ่มเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี ลดลง 31.91% ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี  ลดลง 22.74% ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000  บาทต่อปี  ลดลง 18.71% , กลุ่มเงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี ลดลง 15.61%  ,กลุ่มเงินได้สุทธิ 2,000,001 – 4,000,000 บาทต่อปี  ลดลง 10.72% และกลุ่มเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป ลดลง 5.98%  หากรวมเงินได้สุทธิทั้งหมด คิดเป็นอัตราภาษีเฉลี่ยที่ลดลง 15.89%

    อย่างไรก็ดี  "ฐานเศรษฐกิจ" ตั้งข้อสังเกตว่าหากรัฐยังไม่มีการปรับเกณฑ์ค่าลดหย่อนภาษี   ซึ่งปัจจุบันมีความซ้ำซ้อนและมีมากถึง  23 รายการ รวมแล้วเป็นเม็ดเงินที่จะหักลดหย่อนได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท อาทิเบี้ยประกันชีวิตรวมบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ถึง 300,000 บาท ,การลงทุนใน กบข./PVD/RMF ได้ 500,000 บาท,  LTF 500,000 บาท ,ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านลดหย่อนถึง 100,000 บาท ,ค่าลดหย่อนบุพการี ( พ่อแม่) – บุพการีคู่สมรส รวม 120,000 บาท  ฯลฯ

   การจะมองกันว่า การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ ไม่ต่างกับ อุ้มคนรวย " ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดความจริง  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานภาษีในอัตราร้อยละ 35 หรือมีรายได้ระดับ 4 ล้านบาทขึ้นไป ยกตัวอย่างผู้มีรายได้ที่ 4 ล้านบาท ต่อปี อัตราภาษีเดิม ( ร้อยละ 37 ) จะต้องเสียภาษีราว  1.035 ล้านบาท  ขณะที่อัตราใหม่เสียภาษีอยู่ที่ 965,000 บาท หรือประหยัดภาษีลงกว่า  70,000 บาท   แต่หากผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน อัตราภาษีใหม่จะจ่ายถูกมากกว่า 965,000 บาท หรือระดับ 800,000 กว่าบาทเท่านั้น
   และคงจะผิดหลักการของภาครัฐ  ที่มักจะประกาศปาว ๆว่า เป็นการปรับ เพื่อกระจายรายได้  สร้างความเป็นธรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,803 วันที่  23-26  ธันวาคม พ.ศ. 2555

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 25 ธ.ค. 55 13:03:50




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com