รพ.ไทยแห่ปักหมุด'CLMV' ฐานตลาดใหม่
|
|
ธุรกิจ : Marketing วันที่ 27 ธันวาคม 2555 08:33 โดย : กัญสุชญา สุวรรณคร โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โรงพยาบาลไทย แห่ลงทุนต่างประเทศ เชื่อการเปิดเออีซีเป็นโอกาสทองของธุรกิจ
ก้าวรุกขยายเครือข่ายไปต่างประเทศ ของบรรดาโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ แม้ว่าวันนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ด้วยระยะเวลาการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ใกล้เข้ามา ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไทย ไม่อาจนิ่งนอนใจ โดยเริ่ม "เปิดเกม" บุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะเป็น "โอกาสทอง" ของธุรกิจเฮทธ์แคร์ไทย ซึ่งน่าจะเห็นภาพการ "เคลื่อนทัพ" ที่ชัดเจนในปี 2556
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัทกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี กรุ๊ป กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจนี้ว่า ในฐานะผู้ผ่านประสบการณ์การทำตลาดต่างประเทศมานาน การเปิดเออีซี จะเป็นโอกาสที่ดี ในการขยายเครือข่ายของธุรกิจโรงพยาบาลไทยไปในอาเซียน จากความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาลของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน
เขายังมองว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนทั้งสิ้น "ยกเว้นสิงคโปร์ และมาเลเซีย" เนื่องจากธุรกิจธรุกิจเฮทธ์แคร์ค่อนข้างเข็มแข้ง และมีการทุ่มเทเรื่องของเฮทธ์แคร์อย่างมาก เพื่อการเป็นฮับของภูมิภาค
"ประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นประเทศที่น่าสนใจและเหมาะสมในการลงทุน โดยเฉพาะพม่า แม้จะมีความเสี่ยง ที่ดินราคาแพง กฎหมายยังไม่ชัดเจน แต่พม่า จะเป็นช่องทางเชื่อมต่อไปถึงจีนตอนใต้ ที่สำคัญหลังการเปิดประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างมาก จะเห็นได้จากขณะนี้ลูกค้าพม่าเข้ามาใช้บริการในเมืองไทยขึ้นมาเป็นอัน 2 แซงหน้าลูกค้าในกลุ่มตะวันออกกลาง แต่อุปสรรคสำคัญคือการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าจะจ้างเพิ่ม 2-3 เท่า แต่ก็ไม่ค่อยมีใครยอมไปทำงานในต่างประเทศ เพราะต่างมีครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย รวมถึงปัญหาเรื่องการสื่อสาร" นายแพทย์บุญ กล่าว
ดังนั้น ผู้ที่จะไปลงทุนต้องวางแผนเตรียมแผนเรื่องบุคลากรให้ดี โดยแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น คือ การส่งบุคลากรทางแพทย์ของประเทศนั้นๆ มาฝึกอบรมที่เมืองไทย คาดว่าจะใช้เวลาแค่ 1-2 ปีในการฝึกบุคลากรที่มีศักยภาพ นายแพทย์บุญ กล่าวถึงแผนการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลธนบุรี กรุ๊ป ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ว่าจะยังโฟกัสไปที่ประเทศจีน ทั้งลักษณะการเข้าไปลงทุนเอง การร่วมทุน และการรับจ้างบริหารซึ่งทำอยู่แล้ว โดยใช้บริษัทร่วมทุนคือ WJM International management ซึ่งถือหุ้นโดยโรงพยาบาลธนบุรี 50% และถือหุ้นในนามส่วนตัวอีก 50% เป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจโรงพยาบาลในจีน โดยในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมทุนกับกลุ่มยูไนเต็ด ฟอร์บส์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ลงทุนสร้างโรงพยาบาลรวม 3 แห่ง ในเมืองหนานจิง ซูโจ และอูฉี เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง
นอกจากจีนแล้ว กลุ่มโรงพบาบาลธนบุรี ยังจะเข้าไปรับบริหารโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงในเวียดนาม และโรงพยาบาล 120 เตียงในกัมพูชา และมีแผนขยายต่อไปในพม่า
ขณะที่กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก มีเครือข่ายประกอบไปด้วย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล เป็นกลุ่มที่มีการประกาศเป้าหมายชัดเจน จะขยายตลาดไปใน“อาเซียนส่วนบน” ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ซึ่งเป็นช่องทางทำตลาดต่อไปยังจีนตอนใต้ได้
ปัจจุบันรายได้จากต่างชาติคิดเป็นสัดส่วน 25-30% โดยวางเป้าหมายปี 2558 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ได้ขยายโรงพยาบาลเพิ่มที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา อีก 100 เตียง จากเดิมมีอยู่ 2 แห่ง ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลกรุงเทพ แต่เครือข่ายที่มีอยู่ เช่น พญาไท เปาโล สมิติเวช รวมถึงโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่เข้าไปซื้อกิจการมาก็จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การบุกตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน
โดยสมิติเวชเป็นเครือข่ายที่มีความชัดเจนมากที่สุดในเรื่องนี้ จากแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ในรูปแบบการรับบริหารโรงพยาบาล เช่น แนะนำรูปแบบการให้บริการด้านต่างๆ ภายในโรงพยาบาล,การฝึกอบรมพยาบาล เป็นต้น ปัจจุบันได้เข้าไปรับบริหารให้กับโรงพยาบาลวิคตอเรีย ในพม่า และร่วมบริหารให้กับโรงพยาบาลแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในเนปาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 250 เตียง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายไปยังอินโดนีเซีย คาดว่าภายใน 3 - 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จากการรับจ้างบริหารต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 20%
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ธ.ค. 55 11:01:02
|
|
|
|