ประกันภัยปี 56กระฉูด! อานิสงค์รถคันแรก
|
|
วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2012 เวลา 17:05 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - คอลัมน์ : การเงิน Financial
ที.ไอ.ไอ.เผยนโยบายรถคันแรกส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าเบี้ยประกัน ชี้ปีหน้าขยายตัวได้กว่า 50% แต่จีดีพีโตแค่ 5% ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เชื่อไทยยังขึ้นอันดับ 3 ในอาเซียนไม่ได้ใน 5 ปีนี้ ด้าน ม.ธุรกิจฯระบุผลประกอบการของบริษัทในธุรกิจประกันภัยจะดีขึ้นกว่าปีก่อนจากรัฐบาลประชานิยม
นายอธิวัฒน์ ศุภสวัสดิ์วัชร ผู้อำนวยการ สถาบันประกันภัยไทย และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ไอ.ไอ. จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางและอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยไทย ปี 2556 ว่า ธุรกิจประกันภัยจะมีอัตราการเติบโตสูง จากแรงหนุนนโยบายประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะรถคันแรกที่จะเห็นการส่งมอบรถในปริมาณสูงมากในปี 2556 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าเบี้ยประกัน โดยจะยังทำให้การขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องทั้งมูลค่าเบี้ย และอัตราการขยายตัวของธุรกิจ ซึ่งกว่า 50% ของธุรกิจวินาศภัยขยายตัวมาจากงานประกันภัยรถยนต์
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้วเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2556 น่าจะขยายตัวประมาณ 21-22% โดยมีเบี้ยประกันภัยสูงเกิน 2 แสนล้านบาท ขณะที่ประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตใกล้เคียง 15% เนื่องจากฐานด้านเบี้ยประกันชีวิตจะสูงกว่า
สำหรับอัตราการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวที่ 19% โดยธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวที่ 15% และธุรกิจวินาศภัยขยายตัวที่ 24-25% แต่ถึงแม้อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยไทยจะสูงระดับใด แต่หากเทียบเบี้ยประกันภัยทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กลับพบว่ามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 5% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 13-14%
"สิ่งที่น่าคิดคือ ธุรกิจประกันไม่ว่าจะประเทศใด หากมีอัตราการเติบโตสูงย่อมแสดงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะประเทศไหนพัฒนาสูงกระบวนการรับความเสี่ยงโดยมีบริษัทประกันเข้ามารับผิดชอบแทนก็จะสูงตามไปด้วย ถือเป็นการผลักภาระออกไปจากภาครัฐ โดยให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยงแทน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น"
ด้านสัดส่วนการถือกรมธรรม์ต่อคนเฉลี่ยนั้น ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีการซื้อประกันภัยต่อคนเพียง 2,000 บาท และที่น่าตกใจ คือ เฉลี่ยคนไทย 10 คนถือกรมธรรม์เพียง 1 ฉบับแตกต่างจากต่างประเทศที่มีการซื้อเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อคนสูงถึงหลักหลายหมื่นบาท โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เฉลี่ยต่อ 1 คน ถือกรมธรรม์สูงถึง 6-7 ฉบับ
หากถามถึงประเด็นเรื่องการแข่งขันเชิงธุรกิจประกันภัยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยจะมีโอกาสขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 2 ภายใน 5 ปี หรือไม่ มองว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ไทยจะยังไม่สามารถแซงหน้าประเทศอย่างมาเลเซียได้ แม้ไทยจะได้เปรียบเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียนก็ตาม โดยจุดอ่อนของไทยอยู่ที่การศึกษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ขณะที่มาเลเซียกลับสามารถเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ อัตราการเติบโตเชิงกรมธรรม์ ซึ่งเมื่อเปิดเสรีแล้วเรื่องภาษาอังกฤษนั้นสำคัญ เพราะสามารถทำให้การซื้อขายประกันภัยภายในภูมิภาคเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นแม้ไทยจะผ่านการเปิดเสรีประกันภัยไปแล้ว ก็อาจไม่สามารถมีอัตราการเติบโตและพัฒนาธุรกิจประกันภัยขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนได้ เพราะไทยยังไม่มีโรดแมป หรือไทยยังไม่มีแผนพัฒนาเชิงประกันภัยที่ครบวงจร โดยเฉพาะนโยบายดูแลบริษัทประกันภัยที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้
ด้านนายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลการสำรวจจากธุรกิจประกันภัย 31 บริษัท โดย 52% ระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทในธุรกิจประกันภัยปี 2556 จะมีทิศทางที่ดีกว่าปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐส่งตรงต่อธุรกิจประกันภัยผ่านนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ส่งผลให้ธุรกิจประกันมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.4% จากกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 28.6% รวมถึงการปรับโครงสร้างการบริหาร การลดต้นทุนทางธุรกิจ ซึ่งต้องทำให้ไม่เกิน 15% จะเป็นระดับที่ธุรกิจสามารถประคองตัวได้ นอกจากนี้ทิศทางการปรับอัตราเบี้ยประกันภัย แม้จะไม่สูงถึงเพดานอัตราเบี้ยประกันภัยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด แต่อาจมีการปรับเพิ่มในประกันที่มีความเสี่ยง ส่งผลต่อตลาดประกันภัยในภาพรวมที่มีอัตราเติบโตทั้งตลาดและกำลังซื้อ โดยถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอย่างมาก ในปี 2556
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าธุรกิจประกันภัยคงต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรเฉพาะทางเข้ามารองรับการขยายงาน เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยกลับขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางในการให้บริการ รองลงมาคือ เศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ การแข่งขันที่สูงขึ้น การเมืองภายในประเทศ การขาดแคลนเงินทุน และทิศทางแบบประกันภัยบางกลุ่มที่มีแนวโน้มลดลง
นายเกียรติอนันต์ ยังได้ประเมินถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปี 2556 โดยระบุว่า ได้แบ่งอัตราการเติบโตออกเป็น 3 ระดับ โดยเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก คือ หากเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.3% เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.9% หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.6% เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.2% และหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.8% เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.8% ทั้งนี้ ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวภายใต้กรอบ 3.9-4.2% จากแรงหนุนของนโยบายประชานิยมของรัฐบาล
นอกจากนี้แรงหนุนจากภาคการส่งออกจากตลาดจีนและอินเดีย จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้จีดีพีในปีหน้า แม้จะมีการส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดประเทศอาเซียนด้วยกัน แต่หากประเมินแล้ว อาจใช้เวลาส่งเสริมอีกไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี ถึงจะมีมูลค่าส่งออกสูงทดแทนตลาดเก่าขั้นมาได้ รวมถึงการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งจากจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศยุโรป ที่มีแนวโน้มเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,804 วันที่ 27-29 ธันวาคม พ.ศ. 2555
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
29 ธ.ค. 55 21:13:58
|
|
|
|