เครดิตบทความ....... Road to Billion
1. หุ้นเยอะ ต้องการเวลาแยะ
ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า หุ้นก็เหมือนกับลูก มีเท่าที่คุณพอจะดูแลเค้าได้ก็พอ เดี๋ยวคนไทยส่วนมากมีลูกแค่คนเดียวหรืออย่างมากก็สองคน ลองนึกภาพมีลูกซัก 10 คนเหมือนสมัยก่อนคงจะตลกพิลึก แต่ หุ้น ต่างกับ ลูก ตรงที่ว่าหุ้นของแต่ละคนอาจจะต้องการเวลาในการดูแลต่างกัน ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
- เราต้องตามงบเป็นรายไตรมาสหรือเปล่า?
- เราจำเป็นต้องเฝ้าราคาหุ้นหรือเปล่า?
- เรารู้จักอุตสาหกรรมหรือหุ้นตัวนั้นดีแค่ไหน?
- เรามีประสบการณ์ในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน?
- หุ้นที่เราถือในพอร์ตมีความคล้ายคลึงกันแค่ไหน?
ส่วนตัวแล้วผมยังไม่มีลูก แต่ก่อนที่ผมจะตัดสินใจลงทุน ผมจะใช้เวลาศึกษาหุ้นแต่ละตัวเยอะมาก และถ้าตัดสินใจแล้วก็จะไม่ได้ใช้เวลาในการตามเท่าไหร่ (อาจจะมีตามงบรายไตรมาสบ้าง แต่ก็แค่ปีละ 4 หน) ก็เลยสามารถดูแลหุ้นได้ประมาณ 8 10 ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะถือเท่านั้นนะครับ มันเป็นแค่แนวทางเฉยๆ ผมอาจจะมีหุ้นมากกว่านั้นได้ถ้าหุ้นพวกนั้นไม่ต้องการเวลาจากผมมากหรือไม่มีนัยสำคัญกับพอร์ต
2. จำนวนหุ้นน้อย ความเสี่ยงกระจุกตัว
คุณสุมาอี้เคยพูดว่า ถึงหุ้นจะดีแค่ไหนมันก็มีโอกาสจะพลาดได้ โดยส่วนตัว ถึงแม้หุ้น ร้านค้าห้องแถว จะดีอย่างไร จะมีความสามารถในการแข่งขันเยอะแค่ไหน เติบโตได้ไกลเท่าไหร่ ผมก็คงนอนไม่ค่อยหลับถ้าจำเป็นต้องถือหุ้นตัวนั้นเพียงตัวเดียว เพราะหุ้นทุกตัวย่อมมีความเสี่ยง แต่ถ้าในทางตรงกันข้ามพอร์ตผมมีหุ้น 50 ตัว ผมก็ไม่รู้ว่าจะผมตื่นขึ้นมาหาหุ้นใหม่ๆไปทำไมเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะเลือกถูกหรือเลือกผิดมันก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อพอร์ตซักเท่าไหร่
เบนจามิน เกรแฮม เคยบอกไว้ว่าเราจะสามารถได้ประโยชน์จากการ กระจายความเสี่ยง ถ้าเรามีหุ้น 10 30 ตัวในพอร์ตเรา แต่ในขณะที่ปีเตอร์ ลินช์ และบัฟเฟต์ เคยพูดว่าหุ้น 5 ตัวก็น่าจะเพียงพอแล้ว
แล้วเราจะมีกี่ตัวดี?
วิธีคิดแบบง่ายๆในการประเมินระดับความเสี่ยงที่เรารับได้: สมมติว่าเราถือหุ้น 5 ตัว แสดงว่าแต่ละตัวจะมีน้ำหนัก 20% ของพอร์ตโดยเฉลี่ย ถ้าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งปรับตัวลง 30% พอร์ตคุณจะลดลงประมาณ 6% คุณรับกับมันได้รึเปล่า?(ถ้าคุณมีระบบ cut loss คุณอาจจะใช้ตัวเลข 5% 10% แล้วแต่ระบบของคุณเพื่อนำมาคำนวณความเสี่ยงได้) ลองคำนวณเล่นๆดูครับ ปรับไปปรับมาก็จะเจอตัวเลขที่เราคิดว่าเหมาะสมครับ
3. ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ?
ผมเคยได้ยินนักลงทุนหลายท่านบอกว่า จำนวนหุ้นที่น้อยกว่า จะทำให้เราได้ ผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราลองมาคิดดูดีๆจะพบว่าเรา อาจจะ ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ถ้า เราเลือกหุ้นได้ถูกตัว เพราะฉะนั้นการถือหุ้นจำนวนน้อยตัวหรือแบบ Focus จะมีประโยชน์มากกว่าสำหรับนักลงทุนที่พอจะมีความสามารถระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนที่ยังลองผิดลองถูกอยู่อย่างผม การถือแบบ Focus อาจจะไม่ได้ให้ผลประโยชน์เท่ากับนักลงทุนที่เก่งๆและยังอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตมากกว่าการถือหุ้นหลายๆตัว
ผมสังเกตว่านักลงทุนหน้าใหม่บางท่านชอบอัดเงินทั้งพอร์ตเข้าไปซื้อ หุ้นเด็ด โดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ พูดอีกอย่างคือเล่นหุ้นแบบ แทงหวย คนแบบนี้ส่วนมากก็มักจะถูกเจ้ามือหวยกินเรียบจนหลายคนขยาดการลงทุนไปเลย
ในอีกมุมนึง ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกไว้ว่าเค้าไม่รู้หรอกว่าหุ้นตัวไหนจะกลายเป็นหุ้น 5 เด้ง 10 เด้ง เพราะฉะนั้นการมีหุ้นเยอะๆก็อาจจะเหมือนการซื้อลอตเตอรี่ ถ้าเราซื้อหลายๆใบก็อาจจะมีโอกาสถูกมากกว่า ฉะนั้นในบางครั้งการถือหุ้นหลายๆตัว (ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว) ก็อาจจะดีกว่าการใช้เวลาไปกับการเลือกหุ้นเพียงตัวเดียวที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุดก็ได้ครับ เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าไอเดียการลงทุนของเราอันไหนจะออกดอกออกผล
นอกจากปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งสามข้อแล้ว จำนวนหุ้นที่ถืออาจจะต้องเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นถ้าคุณมีพอร์ตขนาดใหญ่หรือลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย และอาจจะลดลงได้ถ้าคุณมีหุ้นที่คุณชอบและมั่นใจมากๆ (อย่าลืมว่าทุกคนมีโอกาสที่จะผิด) จะว่าไปการปรับสัดส่วนหุ้นในพอร์ตก็อาจจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการตัดสินใจ คงจะไม่มีสูตรตายตัว
ปล. โดยส่วนผมคิดว่าความเสี่ยงไม่ได้แปรผันโดยตรงกับจำนวนเสมอไป ผมมีชีวิตเดียว อาชีพเดียว รถคันเดียว เมียคนเดียวและลูกคนเดียว สิ่งนี้ถือเป็นความเสี่ยงหรือไม่ตอบได้เลยครับ มีค่ามากที่สุดในชีวิตซึ่งถือว่าเสี่ยงที่สุดแล้ว แต่เรายังถนอมไว้ได้อย่างดี จึงกลับมามองที่หุ้น ผมเคยลงทุนหลายตัว ท้ายที่สุดมาลงตัวที่ มากสุดสาม มาตรฐานสอง มั่นสุดๆหนึ่ง แต่ก็นะสูตรสำเร็จแม้แต่ความขมของกาแฟ มีความชอบ ความต้องการ และการดูดซึมที่ร่างกายจะรับได้ต่างกัน ต่างคนก็ต่างวิธีการ สูตรสำเร็จของใคร ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ศึกษาและหาทางที่เหมาะกัยตัวเองดีที่สุดครับ
ปล. ปล. วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปี สิ่งใดไม่ดีขอให้จำเป็นบทเรียนและอย่าย้อนรอย สิ่งใดดีขอให้สืบสานต่อในปีหน้ากันทุกคนนะครับ