The Lord of The Rings : The Fellowship of the Ring
อภินิหารแหวนครองพิภพ

แหวนสามวง ถูกกำหนดให้กับกษัตริย์แห่งเอลฟ์สิบเอ็ดพระองค์
เจ็ดวง สำหรับจ้าวแห่งคนแคระในโถงแห่งศิลา
ส่วนอีกเก้า สำหรับมนุษย์ผู้อมตะ ที่ชะตากำหนดให้ให้ต้องสิ้นชีพ
และหนึ่งวง เป็นของดาร์คลอร์ดผู้ครองบัลลังก์ทมิฬ
ณ ดินแดนแห่งมอร์ดอร์ที่ปกคลุมด้วยเงามืด

หนึ่งวง ..เพื่อครองจักรวาล
หนึ่งวง ..หนึ่งเพื่อค้นหา
อีกหนึ่งวง ..นำพาทุกวงมารวมกัน
ท่ามกลางความมืดมิดที่รวมทุกวงเข้าด้วยกัน
ณ ดินแดนทมิฬแห่งนครมอร์ดอร์...

ทั่วโลกมีแหวนวิเศษเพียง 20 วง ที่หลอมขึ้นมาโดย ดาร์คลอร์ด แห่งนครมอร์ดอร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นอภินันทนาการ แด่ผู้ปกครองแต่ละเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมัชฌิมโลก เอกธำมรงค์ (The One Ring) เปรียบเสมือนแหวนแม่ ที่ถ่ายทอดพลังอำนาจของ ซอรอน แก่ผู้ปกครองที่สวมแหวนอีก 19 คน

แต่ภายหลังจากพบแผนการอันชั่วร้ายของซอรอน เหล่าผู้ปกครองจึงร่วมกันทำสงครามกับซอรอนอย่างดุเดือด ซึ่งผลลงเอยด้วยการที่ ไอซิลเดอร์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของอารากอร์น ได้ฟันมือข้างที่สวมแหวนเอกธำมรงค์ของซอรอนจนขาด ไอซิลเดอร์ได้รับคำสั่งให้นำแหวนวงนี้ไปทิ้งลงใน Crack of Doom อันเป็นที่ที่แหวนวงนี้ถูกหลอมขึ้น เพื่อให้เปลวเพลิงที่ใช้หลอม ทำลายอำนาจของแหวนให้หมดสิ้น

แต่เสียงเรียกลึกลับจากแหวนทำให้เขาละเมิดคำสั่ง แม้ว่าซอรอนจะประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง แต่ตราบใดที่แหวนวงนี้ยังไม่ถูกทำลาย ตราบนั้นโอกาสที่จะกลับมายิ่งใหญ่ของซอรอนก็ยังมีอยู่

ต่อมา ไอซิลเดอร์ถูกพวกออร์คส (Orcs) ฆ่าตาย ก่อนตาย เขาได้ทิ้งแหวนลงไปในแม่น้ำ แหวนวงนั้นยังคงจมอยู่ในใต้น้ำลึก จนกระทั่งวันหนึ่ง สเมียร์โกล ได้พบมันเข้า แล้วมนต์ดำจากแหวนก็ได้เปลี่ยนให้เขาเป็นสัตว์ประหลาดที่ชื่อ โกลลัม ต่อมา บิลโบ้ แบ้กกิ้นส์ (ตัวเอกจากนิยาย The Hobbit ซึ่งเป็นผลงานของ เจ.อาร์.อาร์. โทลเคียน เช่นกัน) ก็ได้แหวนวงนี้มาจากโกลลัม ซึ่งจากตรงนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ The Lord of The Rings บิลโบ้ได้ยกแหวนให้กับหลานชายที่ชื่อ โฟรโด้ แบ้กกิ้นส์ ถึงตอนนี้ ชะตากรรมของมัชฌิมโลก จึงขึ้นอยู่กับโฟรโด้ และพันธมิตรที่ถูกเลือก ว่าจะนำแหวนไปทำลายยัง Crack of Doom ก่อนที่ซอรอนจะแย่งมันมา และทำให้มัชฌิมโลกตกอยู่ใต้ความมืดตลอดกาล..


เกร็ดที่น่าสนใจ

  • นิยายเรื่อง The Lord of The Rings ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1954 หลังจากใช้เวลาเขียนถึง 20 ปี และได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ


  • แรงบันดาลใจสำคัญในการถ่ายทอดมัชฌิมโลก (Middle Earth) จากหน้าหนังสือมาสู่แผ่นฟิล์มของผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน มาจากภาพประกอบหนังสือไตรภาค The Lord of The Rings ที่วาดโดยนักวาดภาพประกอบมือรางวัลนามว่า อลัน ลี เป็นเพราะความประทับใจ ทำให้แจ็คสันตัดสินใจติดต่อให้ลี ให้มาเป็นที่ปรึกษาประจำกองถ่าย ตั้งแต่เริ่มกระบวนการพรีโพรดักชั่นจนกระทั่งจบ รวมเวลาประมาณสามปี

  • ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำขึ้นเว็บ ในวันที่ 7 เมษายน 2000 นักท่องเว็บไม่น้อยว่า 1.7 ล้านคน ได้แวะเข้ามาชมในชั่วเวลา 24 ชั่วโมง

  • ภาพยนตร์ไตรภาค The Lord of The Rings อันประกอบด้วย The Fellowship of the Ring, The Two Towers และ The Return of the King ถ่ายทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่มีกำหนดออกฉายปีต่อปี เริ่มจาก 2001 - 2003

  • The Lord of The Rings ได้รับการยอมรับว่า เป็นภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องแรก ที่ถ่ายทำในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ภายใต้กระบวนการผลิตที่ใหญ่โตที่สุด เท่าที่ฮอลลีวู้ดเคยสร้างมา

  • The Lord of The Rings ถ่ายทำในประเทศนิวซีแลนด์ทั้งเรื่อง เป็นเวลา 274 วัน

  • ด้วยความที่ The Lord of The Rings ต้องถ่ายทำภาค 1-3 พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน จะจัดการกับการถ่ายทำแบบหฤโหดนี้ได้อย่างไร ? แถมยังต้องแบ่งกองถ่ายออกเป็นสี่กองอีก (กองถ่ายที่ 1-2, กองถ่ายแบบจำลอง และกองถ่ายบลูสกรีน) คำตอบสำคัญอยู่ที่ดาวเทียมชื่อ เทลเลคอม ซึ่งถ่ายทอดภาพจากกองถ่ายต่างๆ มารวมอยู่ที่มอนิเตอร์หน้าเก้าอี้ของ ปีเตอร์ แจ็คสัน ทำให้ผู้กำกับสามารถสั่งงานกองถ่ายต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

  • ตัวประกอบ 20,000 ชีวิตในหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นพลทหารจากกองทัพนิวซีแลนด์

  • ก่อนหน้าที่จะมาแสดงใน The Lord of The Rings เซอร์ เอียนโฮล์ม ซึ่งในเรื่องแสดงเป็น บิลโบ้ เคยให้เสียงพากย์ตัว โฟรโด้ แบกกิ้นส์ ใน The Lord of The Rings ฉบับละครวิทยาศาสตร์ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุช่องบีบีซีในทศวรรษที่ 1970 มาก่อน

  • จอห์น รายส์ เดวี่ส์ ผู้แสดงเป็นคนแคระในเรื่อง จึงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมงไปกับการแต่งหน้า ทำผม และสวมเครื่องแต่งกาย ซึ่งถือว่ายาวนานกว่านักแสดงคนอื่นๆ ในหนังเรื่องนี้

  • ม้าที่เข้าประกอบฉากในหนังเรื่องนี้ เป็นม้าพื้นเมืองเกือบทั้งหมด และไม่มีการตกแต่งเพิ่มจำนวน ด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์แม้แต่ฉากเดียว ว่ากันว่าบางฉากทีมงานนำม้าเข้าฉากคราวเดียวถึง 250 ตัว! ผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกม้าพวกนี้คือ ไลล์ เอดจ์ และ จอห์น สก็อต ซึ่งเคยมีประสบการณ์กับหนัง ที่ต้องใช้ม้าเข้าฉากเป็นจำนวนมากอย่าง Unforgiven และ Legends of the Fall มาแล้ว

  • แหวนเอกธำมรงค์ (The One Ring) ซึ่งเป็นหัวใจของหนังนั้น เดิมทีถูกกำหนดให้ออกแบบโดย นักออกแบบเพชรพลอยนามว่า เจนส์ แฮนเซ่น แต่ไม่ทันที่หนังจะเริ่มต้นถ่ายทำ เขาก็เสียชีวิตเสียก่อน โดยผู้ที่เข้ามารับหน้าที่แทนก็คือ ลูกชายของเขาเองนามว่า ธอร์คิลด์ แฮนเซ่น จากจำนวน 12 วงที่เขาออกแบบ มี 3 วงที่ได้รับการยอมรับ ก่อนที่จะถูกตัดเหลือหนึ่งวง ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องในที่สุด

  • อัญมณีที่ใช้ประกอบฉากของหนังเรื่องนี้ เป็นฝีมือการออกแบบของ จัสมิน วัตสัน วัย 27 ปี โดยอัญมณีอันเป็นผลงานการออกแบบของเธอ ที่เธอภูมิใจมากที่สุด ประกอบด้วย แหวนของกาลาเดรียล (ชื่อ เนนญ่า) ซึ่งทำจากเงินและคริสตัล, มงกุฏของกาลาเดรียล ซึ่งทำจากทองและเงิน, สร้อยทองเอเวนสตาร์ของอาร์เวน ทำจากเงินและคริสตัล และแหวนของอารากอร์นซึ่งทำจากทอง, เงิน และมรกต

  • นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เอนจิล่า ดิคสัน ที่เคยผ่านผลงานอย่าง Hercules และ Xena, Warrior Princess และ Heavenly Creature มาแล้ว หน้าที่ของเธอใน The Lord of The Rings แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง เพราะเธอต้องแบบเครื่องแต่งกาย ให้กับนักแสดงนำกว่า 20 คน และนักแสดงที่มีบทพูดอีกกว่า 90 คน ไม่นับรวมตัวประกอบอีกกว่า 26,000 ชีวิต !

  • ผู้ออกแบบท่าฟันดาบให้กับเหล่านักแสดงใน The Lord of The Rings คือ บ็อบ แอนเดอร์สัน เขาเคยสอนการฟันดาบให้แก่ดาราดังอย่าง เออร์รอล ฟลินน์ มาแล้ว และยังเคยสวมชุด ดาร์ธ เวเดอร์ เฉพาะในฉากต่อสู้ ในหนังมหากาพย์อวกาศคลาสสิคเรื่อง Star Wars มาแล้ว รวมทั้งได้ออกแบบกระบวนท่าฟันดาบให้แก่หนังเรื่อง The Mask of Zorro สำหรับนักแสดงทั้งหมดใน LOTR คนที่เขาภูมิใจในการสอนมากที่สุดก็คือ วิกโก้ มอร์เทนเซ่น ซึ่งรับบทเป็น อารากอร์น

  • อเล็กซ์ ฟังเก้ ผู้กำกับภาพในหน่วยหุ่นจำลอง เคยได้รับรางวัลออสการ์มาแล้ว ในสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Total Recall นอกจากนี้ เขายังอยู่เบื้องหลังหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Starship Trooper และ The Abyss โดยใน The Lord of The Rings ฟังเก้ต้องสร้างฉากจำลองขึ้นมาถึง 68 ฉาก โดยทั้งหมดถ่ายทำกันในโกดังเปล่า ทีมีขนาดพื้นที่ 24,000 ตารางฟุต โดยฉากมัชฌิมโลก (Middle Earth) นั้นกว้างขวางโอฬารมาก ดังนั้นจึงไม่อาจสร้างขึ้นจริงๆ ได้ เพราะไม่มีโรงถ่ายที่ไหนที่มีขนาดใหญ่ พอที่จากสร้างป้อมอย่าง คาซาด ดัม (Khazad Dum) หรือ คิริธ อังกอล (Cirith Ungol)

  • ฉากชุมชนฮ้อบบิท (Hobbiton) เริ่มมีการสร้างขึ้นก่อนที่การถ่ายทำ The Lord of The Rings จะเริ่มต้นหนึ่งปี บนพื้นที่กว่า 8 เอเคอร์ของเมืองมาทามาทา ประเทศนิวซีแลนด์ ทางทีมงานได้ช่วยกันปลูกพื้นผัก และสวนดอกไม้กว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตร จนครอบคลุมไปทั่วบริเวณ จนกระทั่งเมื่อทีมงานถ่ายทำได้เดินทางมาถึง ในเดือนมกราคม ปี 2000 ชุมชนฮ้อบบิทก็อุดมไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ และหมู่มวลแมลงหลากหลายชนิด นอกจากนี้ ยังได้มีการปลูกต้นโอ๊คกว่า 100 ต้น รวมถึงต้นไม้ปลอม ที่ทำให้ชุมชนดังกล่าวดูอุดมสมบูรณ์เหมือนในหนังสือ

  • ฉากแบ้กเอนด์ ซึ่งเป็นบ้านของโฟรโด้ และบิลโบ้ แบกกิ้นส์ กว่าจะสร้างเสร็จให้ดูออกมายอดเยี่ยมเหมือนในหนัง ทางทีมงานต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามภาพที่ออกแบบ โดยโครงสร้างของอาคารใช้ไม้อัดเป็นหลัก จากนั้นก็ทาทับด้วยสีที่ดูคล้ายไม้โอ๊ค เพื่อทำให้ตัวบ้านดูสมบูรณ์แบบอีกที สิ่งที่น่าสนใจของฉากนี้คือ การต้องสร้างขึ้นสองแบบ แบบแรกเพื่อให้ตัวละครแกนดาล์ฟ ซึ่งแสดงโดย เอียน แมคเคลเลน เดินผ่านไปสะดวก ส่วนอีกแบบหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพวกฮ้อบบิ์ ซึ่งมีความสูงเพียงห้าฟุตครึ่ง

  • ฉากเมืองบรี (Bree) - หลังจากเหล่าฮ้อบบิทได้เดินทางจากเมืองไชร์ พวกเขาก็เดินทางมายังเมืองบรี ด้วยความต้องการที่จะให้ภาพของเมืองบรีดูน่ากลัว และไม่น่าไว้วางใจ แกรนท์ เมเยอร์ ผู้ออกแบบงานสร้าง และ แดน เฮนนาห์ ผู้กำกับศิลป์ จึงสร้างอาคารที่ดูสูงและเรียวกว่าปกติ รวมถึงสร้างขอบสร้างมุม ให้ได้ความรู้สึกของการคุกคาม

  • ฉากเมืองริเวนเดล (Rivendell) - สร้างขึ้นที่วนอุทยาน Kaitoke Regional Park ภายนอกเมืองเวลลิงตัน ฉากเมืองนี้สร้างก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น 18 เดือน โดยทางทีมงานได้ปลูกพืชสีเขียวดูสมบุรณ์ไปทั่ว ก่อนที่จะเสริมด้วยต้นไม้ปลอม, หินปลอม และน้ำตกในภายหลัง หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ ฉากดังกล่าวยังคงถูกทิ้งไว้ไปสมบัติของวนอุทยาน Kaitoke ต่อไป

  • นอกจากภาษาอังกฤษที่ใช้กันใน The Lord of The Rings แล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีภาษาที่คิดโดยโทลเคียนอีก 14 ภาษา ซึ่งในจำนวนนี้ก็คือภาษาเอลฟ์ ผู้ที่คอยโค้ชเหล่านักแสดง ในเรื่องของภาษาก็คือ แอนดริว แจ็ค และ โรอิซิน คาร์ที สำหรับภาษาเอล์ฟที่จะได้ยินกันในภาพยนตร์ จะถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษผ่านคำบรรยายใต้ภาพ (Subtitle)

  • ด้วยความที่เป็นนักนิรุกติศาสตร์โดยธรรมชาติ โทลเคียนจึงชอบมักคิดค้นภาษาของตัวเองอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น ภาษา Quenya ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาจากภาษาฟินแลนด์ ภาษาดังกล่าวมีลักษณะคล้ายภาษาเอลฟ์ ส่วนภาษาที่สองที่เขาคิดก็คือ Sindarin ซึ่งพัฒนามาจากภาษาเวลส์ ภาษาดังกล่าวคือภาษาที่พวกเอลฟ์พูดกันในหนังนั่นเอง

เรื่องย่อ
ตัวละคร / ผู้แสดง
ภาพประกอบเพิ่มเติม
The Two Towers